สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555 และแนวโน้มปี 2556(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 14:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 และชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 คือ การหดตัวของอุปสงค์ระหว่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังขยายตัว ซึ่งประกอบด้วย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน เป็นการขยายตัวจากการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะสินค้าหมวดยานยนต์ รวมทั้งหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม น้ำประปา ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ยารักษาโรค การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวดีขึ้น ส่วนดุลการค้าและบริการเกินดุลเทียบกับที่ขาดดุลในไตรมาสที่แล้ว

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 หดตัวร้อยละ 1.1 หดตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 เป็นผลจากอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ในขณะที่การผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 สำหรับการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 — 5.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก

สำหรับชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 พบว่า บางตัวมีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น และเมื่อพิจารณาตัวเลขมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 (ม.ค.-ต.ค.55) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554

โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คาดการณ์ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2556 ก่อนที่จะขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
  • การฟื้นตัวของการค้าในกลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปี 2555 การผลิตและการค้าสินค้าในกลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกอยู่ในภาวะซบเซาตลอดปี เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม การขาดแคลนอุปกรณ์และชิ้นส่วน ดังนั้น การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกในปี 2556 การเปิดตัวของผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งการฟื้นตัวมากขึ้นของผู้ผลิตในประเทศ และการลดลงของสินค้าคงคลังของผู้ผลิตในประเทศสำคัญๆ คาดว่าจะส่งผลดีต่อการผลิตและการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้
  • อุปสงค์ในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2555 ก็ตาม โดยการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก
  • การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ยังคงเป็ยปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
  • แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำตามราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากปี 2555

ปัจจัยเสี่ยง

  • ปัญหาภัยแล้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของการผลิตในภาคเกษตรซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร การบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม
  • อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว เนื่องจากต้นทุนค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
  • สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เกิดจากมาตรการขยายปริมาณเงินของประเทศต่างๆ ยังเป็นความเสี่ยงที่อาจจะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าการคาดการณ์ในสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจ
  • ราคาน้ำมัน ยังมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่อยู่ในระดับสูง การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันใน

ลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะสร้างแรงกดดันด้านปัญหาเงินเฟ้อ และสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

ดัชนีทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 3.6 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10เดือนในปี 2555 มีค่า 176.2 และในปี 2554 มีค่า 182.8 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เส้นใยสิ่งทอ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2554

สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.5 — 4.5 จากปี 2555 เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัว จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ แรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ เช่นการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมอาจจะล่าช้าไปจนถึงสิ้นปี 2555 ต่อเนื่องปี 2556 และการแข็งค่าของเงินบาทหลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม (QE3)

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 3.9 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2555 มีค่า 194.8 และในปี2554 มีค่า 187.5 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เบียร์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554

สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่า ดัชนีการส่งสินค้าจะขยายตัวจากปี 2555 ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 0.7 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2555 มีค่า 185.3 และในปี 2554 มีค่า 186.6 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน กระดาษลูกฟูกและกระดาษแข็งลูกฟูก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองเท้า เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554

สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะทรงตัวจากปี 2555เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมต้องมีการปรับปริมาณสินค้าคงคลังให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับภาวะการด้านอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องรักษาระดับของสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อการจำหน่ายต่อไป

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในช่วงเดือนมกราคม— ตุลาคม 2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 โดย 10 เดือนแรกของปี 2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 64.5 และในปี 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ60.9 โดยมีอุตสาหกรรมยานยนต์ โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554

สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับสูงขึ้นจากปี 2555เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมน่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้อุปโภคบริโภค เพราะการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในปี 2556

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเดือนมกราคม —ตุลาคม 2555 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเฉลี่ยรวมมีค่า 77.0 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 (80.6) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ทั้ง 3 ดัชนี ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตยังไม่ดี อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2555 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ประกอบกับภาวการณ์ท่องเที่ยวที่ดี สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีการใช้จ่ายปกติ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการ QE3 แม้ว่าผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก และการส่งออกของไทยที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ประกอบกับความกังวลที่มีมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ แต่ผู้บริโภคก็มีความรู้สึกในเชิงบวกต่อสถานการณ์ต่างๆ ในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 เฉลี่ยมีค่า 67.1 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554(71.2) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดี และขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 เฉลี่ยมีค่า 68.3 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 (71.9) การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า100 แสดงว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าโอกาสในการหางานทำอยู่ในระดับที่ไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นในผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 เฉลี่ยมีค่า 95.7 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 (98.6) การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่า100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในรายได้ในอนาคตของตน แต่ระดับความมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมและโอกาสหางานทำ

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3)พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2555 มีค่า 51.6 และในปี 2554 มีค่า 49.9 โดยค่าดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10เดือนในปี 2555 มีค่าสูงกว่าระดับ 50 เล็กน้อย แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 คือ ผลประกอบการของบริษัทคำสั่งซื้อทั้งหมดของบริษัท การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท

สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจน่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2555 จากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในปี 2556 และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 99.96 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2554 (103.3) การที่ค่าดัชนียังอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมในระดับที่ไม่ดี นอกจากนี้เดือนตุลาคม 2555 ดัชนีมีค่า 93.0 ลดลงจากเดือนกันยายน 2555 (94.1) ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 100 เป็นเดือนที่ 4ติดต่อกัน โดยเป็นผลจากการปรับลดลงขององค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และค่าไฟฟ้า ขณะเดียวกันสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่งออก อย่างไรก็ตาม การบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องเห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ ขอให้ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) และควบคุมราคาพลังงาน เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยต่ออายุการผ่อนผันให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสามารถใช้แรงงานต่างด้าวได้ จัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อเครื่องจักรทดแทนแรงงานสำหรับธุรกิจ SMEs ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร และพัฒนาด้านโลจิสติกส์ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือ

คาดว่าในปี 2556 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะทรงตัวจากปี 2555 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2556 รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี แม้ว่าอาจจะชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงยังมีข้อจำกัดในการขยายตัวเนื่องจากต้นทุนค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 136.7 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนกันยายน 2555(136.6) ตามองค์ประกอบที่ขยายตัวจากเดือนก่อน คือ พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI)จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 125.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2555 (124.1) ร้อยละ 0.7 ตามการขยายตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2555 มีค่า 145.2 และในปี 2554 มีค่า 138.1 ทั้งนี้เครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์

สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2555เนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก อีกทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่า การลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคม —ตุลาคม 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2555 มีค่า 231.2 และในปี 2554 มีค่า 205.3

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ทั้งปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554

สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555เนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุนและการลงทุนในเครื่องจักรของภาคเอกชนน่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2555

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนมีค่า 115.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 (111.9)ร้อยละ 2.9 เปน็ ผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามราคาข้าว แปง้ และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์แปรรูป ไข่ ผักและผลไม้ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้า กลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 ดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนมีค่า 139.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2554 (137.8) ร้อยละ 1.1 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมวดผลผลิตเกษตรกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง

สำหรับแนวโน้มปี 2556 คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 เนื่องจากราคาอาหาร พลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชาชนในปี 2555 (ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนธันวาคมซึ่งเป็นตัวเลขประจำเดือนกันยายน 2555) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 39.44 ล้านคนเป็นผู้ที่มีงานทำ 39.15 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.26 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.247 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 0.63)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2555 มีจำนวน 5.72 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.61 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

การค้าต่างประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวในเดือนตุลาคม ทำให้ตลอดทั้ง 10เดือน การส่งออกจึงขยายตัวขึ้นเล็กน้อย สำหรับการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือนนั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 14,251.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2555 ในเดือนมกราคม — ตุลาคม 2555 นั้นการค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 397,975.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 191,861.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 206,113.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.34 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.15 ส่งผลให้ตลอดทั้ง 10 เดือนของปี 2555 ดุลการค้าขาดดุล 14,251.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสถานการณ์การส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมนั้นหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจทั้งในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งเดือนตุลาคมที่กลับมาขยายตัวมากเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออกหลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปลายปี 2554

การส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2555 (มกราคม — ตุลาคม) เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่าการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมนั้นมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจนกระทั่งกลับมาขยายตัวในเดือนพฤษภาคมเนื่องจากฐานตัวเลขที่ต่ำ ในปีก่อนจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น และกลับมาหดตัวลงอีกครั้งในเดือนมิถุนายนถึงกันยายนจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก สำหรับการส่งออกในเดือนตุลาคม2555 นั้นกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.57 เมื่อเปรียบเทียบ

  • โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมของปี 2555 ประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรม 143,806.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็น ร้อยละ 74.95) สินค้าเกษตรกรรม 19,739.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.29) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร15,446.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ8.05) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 12,869.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.71)

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกส่วนใหญ่ของหมวดสินค้าหลักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นยกเว้นสินค้าเกษตรกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 19.79 สำหรับสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.26 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.40 และ 2.11ตามลำดับ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมใน 10 เดือนแรกของปี 2555 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ2.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลัก ได้แก่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 26,787.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.63)ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 23,346.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 16.24)เครื่องใช้ไฟฟ้า 19,191.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.35) อัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออก 11,808.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.21) เม็ดพลาสติก 7,117.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.95) เคมีภัณฑ์ 7,083.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.93)ผลิตภัณฑ์ยาง 6,996.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.87) สิ่งทอ 6,015.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.18) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 5,263.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.66) และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 5,155.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.58) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 118,766.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 82.59 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด

  • ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2555 ซึ่งได้แก่ อาเซียน(9 ประเทศ) จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ66.07 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 13.33 และ 3.31 ตามลำดับสำหรับการส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่าลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.63 ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 และกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04

  • โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 76,979.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 37.35)รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 58,194.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ28.23) สินค้าเชื้อเพลิง 40,816.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 19.80) สินค้าอุปโภคบริโภค 19,481.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.45) สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง10,352.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.02) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 289.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.14) ตามลำดับ

โดยมูลค่าการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.58 สินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.97 สินค้าเชื้อเพลิงการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.07 และสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.57สำหรับการนำเข้าในหมวดสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.49 และ 7.47 ตามลำดับ

  • แหล่งนำเข้า

การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น อาเซียน (9 ประเทศ) สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2555 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 49.16 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากแหล่งนำเข้าหลักส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ยกเว้นการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกามีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.54 สำหรับการนำเข้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.46 สหภาพยุโรปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.58 และกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.20

  • แนวโน้มการส่งออก

มูลค่าการส่งออกหดตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นมาเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม 2555 การส่งออกเริ่มมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นจากการฟื้นตัวหลังน้ำท่วมของภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งในอีก 2 เดือนที่เหลือของปี 2555 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 และคาดว่าการส่งออกตลาดทั้งปี 2555 จะมีมูลค่าประมาณ 232,348 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการลุกลามของปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจนส่งผลให้การค้าโลกซบเซา

การลงทุนจากต่างประเทศ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในเดือนมกราคม — ตุลาคมของปี 2555 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 1,890 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 1,273 โครงการ โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2555 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 773,200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นมาก และสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ BOI ตั้งไว้ 630,000 ล้านบาท เนื่องจากต่างชาติมีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติรายเดิมเริ่มฟื้นกิจการลงทุนและขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติมอีกหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปีก่อน โดยโครงการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 718 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 226,400 ล้าน บาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 471 โครงการ เป็นเงินลงทุน 357,700 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 701 โครงการ เป็นเงินลงทุน 189,200 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคมปี2555 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 288,800 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 155,700 ล้านบาท และหมวดเคมี กระดาษ และพลาสติกมีเงินลงทุน 114,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2555 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 533 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 248,895 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 70 โครงการมีเงินลงทุน 16,479 ล้านบาท ประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวน 32 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 14,074 ล้านบาท และประเทศเนเธอร์แลนด์มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 27 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 12,427 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ