สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555 และแนวโน้มปี 2556(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 14:43 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2555 มีประมาณ 6,763,387 เมตริกตัน(ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) ลดลง ร้อยละ 2.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 21.94 แต่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.78 ในขณะที่เหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นเดียวกัน ร้อยละ 0.95 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 13.35 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญมีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล รองลงมาคือเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.02 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.90 แต่ในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนกลับมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 6.13 เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กโลกที่สูงขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีน ส่งเหล็กราคาถูกเข้ามาแข่งขันในตลาดเหล็กไทยเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กกล้าเจือ (Alloyed product) ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเหล็กกล้าเจือที่นำเข้านั้นเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีลักษณะของการนำไปใช้งานที่เหมือนกับกลุ่มเหล็กกล้าคาร์บอน แต่ผู้นำเข้าระบุว่าเป็นกลุ่มเหล็กกล้าเจือจึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จากที่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% ถ้าระบุว่าเป็นเหล็กกล้าคาร์บอน จึงทำให้ผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้

ความต้องการใช้ในประเทศ

ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2555 มีประมาณ 17,548,000 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้คือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.95 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.45 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.28 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.91 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 โดยจะเห็นได้จากข้อมูลเครื่องชี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งสัญญาณดีขึ้นของธนาคารแห่งประเทศ เช่น ข้อมูลการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย การขออนุญาตจดทะเบียนอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียมรวมทั้งยอดขายซีเมนต์ที่เพิ่มมากขึ้น

การนำเข้า- การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2555 มีจำนวนประมาณ 73,346 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.94 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดกัดกรดและเคลือบน้ำมัน (HR sheet P&O) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.74 รองลงมาคือเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Galv.(HDG)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.74 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป(Semi-finished products) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.69 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.46 ในส่วนของเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.64 โดยเหล็กเส้น (Bar) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.99 และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (HR section (H/L)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.45 โดยเหล็กที่นำเข้ามามีมูลค่ามากในช่วงนี้เป็นเหล็กชนิดคุณภาพพิเศษซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ สำหรับเหล็กเส้นซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะใช้เหล็กเกรดธรรมดาซึ่งผลิตได้เองในประเทศ

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2555 มีจำนวนประมาณ 35,390 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 13.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 83.60 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแท่งแบน (Slab) ลดลง ร้อยละ 100.00 สำหรับเหล็กทรงยาวมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 15.27 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออก ลดลง มากที่สุด ได้แก่ เหล็กลวด (Wire rod(LC/HC))ลดลงร้อยละ 52.62 เหล็กทรงแบน มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 8.70 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม(Tin free) ลดลง ร้อยละ 82.86 เหล็กแผ่นรีดร้อน (HR sheet) ลดลง ร้อยละ 60.80 สำหรับสาเหตุที่มูลค่าการส่งออกลดลง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้หลายประเทศส่งสินค้าเข้ามาแข่งขันกันมาก ในตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งที่ผ่านมามีสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลอย่างมากต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ แม้ว่าในช่วงเดือนกันยายนจนถึงตุลาคม ราคาเหล็กจะปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อน แต่ทิศทางยังคงไม่ชัดเจน และจากความต้องการใช้เหล็กของจีนที่ชะลอตัวลงนั้น ยังคงส่งผลอย่างมากต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีสินค้าเหล็กจากจีนจำนวนมากไหลเข้ามาแข่งขันกับตลาดภายในประเทศ โดยผู้ผลิตเหล็กจีนพยายามหาช่องทางในการส่งสินค้าเข้ามา ซึ่งในหลายกรณีเป็นการแข่งขันที่ไม่เหมาะสมและสร้างผลในทางลบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศและมีการแข่งขันกันทางด้านราคา จึงทำให้ไทยซึ่งโดยปกติไม่ได้เป็นประเทศที่เน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กอยู่แล้วมีมูลค่าการส่งออกที่ลดลง

2. นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องตามพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากากรนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ว่า คำขอของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) บริษัทจี สตีล จำกัด(มหาชน) บริษัท จี เจ สตีล จำกัด(มหาชน) และบริษัท สหวิริยาเพลทมิล จำกัด (มหาชน) ที่ได้ยื่นขอให้พิจารณากำหนดมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 มีหลักฐานและข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นและมีความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน จึงเห็นควรให้เปิดการไต่สวนคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนตามพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 ว่า คำขอของบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ได้ยื่นขอให้พิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนสูงรวมทั้งเหล็กลวดคาร์บอนสูงที่เจือธาตุอื่นที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและความเสียหาย จึงเห็นควรให้เปิดการไต่สวน

3. สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2555 มีประมาณ 6,763,387 เมตริกตัน( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 2.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 21.94 แต่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.78 ในขณะที่เหล็กทรงแบนก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นเดียวกัน คือ ร้อยละ 0.95 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 13.35เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญมีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล รองลงมาคือเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.02 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.90 แต่ในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนกลับมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 6.13 เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กโลกที่สูงขึ้น จึงทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น จีน ส่งเหล็กราคาถูกเข้ามาแข่งขันในตลาดเหล็กไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กกล้าเจือ (Alloyed product) ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2555 มีประมาณ 17,548,000เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.95 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.45 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ7.28 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.91 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 สำหรับมูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี2555 มีจำนวนประมาณ 73,346 ล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.94 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดกัดกรดและเคลือบน้ำมัน (HR sheet P&O)เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.74 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Galv.(HDG)) เพิ่มขึ้น ร้อยละ23.74 ในส่วนการส่งออก พบว่า มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2555 มีจำนวนประมาณ 35,390ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 13.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 83.60 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุด คือเหล็กแท่งแบน (Slab) ลดลง ร้อยละ 100.00 สำหรับเหล็กทรงยาวมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ15.27 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออก ลดลง มากที่สุด ได้แก่ เหล็กลวด (Wire rod(LC/HC))ลดลง ร้อยละ 52.62 ในส่วนของเหล็กทรงแบน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 8.70 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (Tin free) ลดลง ร้อยละ 82.86 เหล็กแผ่นรีดร้อน (HR sheet) ลดลงร้อยละ 60.80

แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2556 ในส่วนของเหล็กทรงแบนโดยเฉพาะเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดกัดกรดและเคลือบน้ำมัน (HR sheet P&O)เหล็กแผ่นรีดเย็น (CR carbon steel)และเหล็กเคลือบสังกะสี (Galv.sheet (EG)) คาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลซึ่งถึงแม้จะหมดระยะเวลาแล้วแต่ก็ยังมีรถยนต์ที่ยังต้องรอการส่งมอบอีก จึงส่งผลทำให้แนวโน้มสถานการณ์เหล็กทรงแบนในปี 2556 ขยายตัวขึ้น สำหรับในส่วนของเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าในปี 2556 จะทรงตัวเนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์พบว่าโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนยังคงทรงตัวอยู่จึงมีผลทำให้แนวโน้มสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กในกลุ่มทรงยาวทรงตัวด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ