สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555 และแนวโน้มปี 2556(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 15:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2555 อยู่ในภาวะที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากหลายบริษัทเริ่มที่จะกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมหลังจากประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลาย ปีก่อนประกอบกับปัจจัยหนุนตามฤดูกาลในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ทำให้หลายบริษัทเร่งการผลิต จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีภาวะดีขึ้นสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้สำรวจข้อมูลการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซดาไฟซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญ โดยมีรายละเอียดดังนี้

การผลิต

โซดาไฟ

จากตัวเลขประมาณการ การผลิตโซดาไฟในปี 2555 มีปริมาณ 791,425.3 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 15.08 แต่การจำหน่ายโซดาไฟในปี 2555 มีปริมาณ 809,553.4 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.95

การตลาด

การนำเข้า

จากตัวเลขประมาณการในปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่านำเข้า 51,936 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.60 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่านำเข้า 126,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.14 อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่านำเข้า 91,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.94 อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าการนำเข้า 47,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.50 และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่านำเข้า 36,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.16

การส่งออก

จากตัวเลขประมาณการในปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าการส่งออก 19,877 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.57 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 81,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.87 อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าส่งออก 4,480 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.651 อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออก 17,689 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.94 และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีมูลค่าส่งออก 63,162 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.14

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2555

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2555 โดยภาพรวมอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากหลายบริษัทเริ่มที่จะกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมหลังจากประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีก่อน ประกอบกับมาตรการบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกของภาครัฐ ที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากผ่านเหตุการณ์สึนามิ อีกทั้ง ปัจจัยหนุนตามฤดูกาลในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ทำให้หลายบริษัทเร่งกำลังการผลิต จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีภาวะดีขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2556

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2556 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และการแก้ปัญหาความเสี่ยงทางการเงิน ที่เรียกว่าภาวะหน้าผาทางการคลัง ( Fiscal Cliff ) ของสหรัฐอเมริการวมทั้งการขึ้นค่าแรงงาน 300 บาททั่วประเทศทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น มีผลทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามดังนั้น หากปัญหาดังกล่าวยังมิได้รับการแก้ไขหรือมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ชัดเจน อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมหลักภายในประเทศ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกเดือนมกราคมถึงตุลาคมปี 2555 หดตัวร้อยละ 2.29 เนื่องจากเทียบกับฐานที่ค่อนข้างสูงในปี 2554 ปริมาณการส่งออกขยายตัวด้วยอัตราเร่งที่ต่ำกว่าการนำเข้ามาก คือ ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 18.17 อันเนื่องมาจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและที่พักอาศัย ที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 อันเป็นผลจากความต้องการซ่อมแซมบ้านเรือน และการลงทุนในโครงการต่างๆของรัฐบาลรวมถึงการที่ผู้ประกอบการต้องการรีบลงทุนก่อนเผชิญหน้ากับต้นทุน เช่น ค่าแรง วัตถุดิบ และพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น

การผลิต

ดัชนีผลผลิตโดยรวมของอุตสาหกรรมพลาสติก 10 เดือน เท่ากับ 148.72 ลดลงจากปี ที่แล้วร้อยละ 3.80 เนื่องจากมีฐานสูงในปี 2554 ซึ่งมีการผลิตกระสอบพลาสติกออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เตรียมรับมือกับอุทกภัย โดยดัชนีผลผลิตของพลาสติกบรรจุภัณฑ์และการอุปโภคบริโภคทั่วไป ได้แก่พลาสติกแผ่น แผ่นฟิล์มพลาสติก และถุงพลาสติก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเล็กน้อย คือ ร้อยละ 2.47, ร้อยละ 0.55 และร้อยละ 5.19 ตามลำดับ

การตลาดและการจำหน่าย

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกเดือนมกราคมถึงตุลาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.32 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2554 ดัชนีการส่งสินค้าของผลิตภัณฑ์พลาสติกทุกชนิดมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาล เช่น การประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาท ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 ส่งผลให้การจำหน่ายสินค้าพลาสติกเพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไปปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการส่งสินค้าถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นมากที่สุด (ร้อยละ 5.83) รองลงมาเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติก (ร้อยละ 4.47) และพลาสติกแผ่น (ร้อยละ 2.65) ยกเว้นกลุ่มกระสอบพลาสติก และเครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัวและห้องน้ำ ที่ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวร้อยละ 9.05 และ 6.58 ตามลำดับ โดยกลุ่มหลังนี้มีการจำหน่ายมากในช่วงไตรมาสที่ 1 อันเป็นผลมาจากความต้องการปรับปรุงที่พักอาศัยจากเหตุน้ำท่วม จากนั้นอุปสงค์ได้หดตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา

ดัชนีสินค้าคงคลัง

ดัชนีสินค้าคงคลังหดตัว ร้อยละ 5.69 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดกำลังการผลิตและการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ผลิตแผ่นฟิล์มพลาสติกมีสินค้าคงคลังเพิ่มจากปีก่อนหน้ามากที่สุด(ร้อยละ 14.90) รองลงมาเป็นพลาสติกแผ่น (ร้อยละ 9.21) และเครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัวและห้องน้ำ (ร้อยละ 2.84)

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ตลอด 10 เดือน ขยายตัวต่ำ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรป ที่ส่งผลไปยังหลายภูมิภาคในโลก รวมทั้งประเทศคู่ค้าของไทย เช่น ญี่ปุ่น จีนและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับปัจจัยเสริมภายในประเทศที่ทำให้ความต้องการสินค้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 1.69ปริมาณรวม 825,512.80 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 87,188.76 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ปริมาณการส่งออกลดลง 3 อันดับแรก ได้แก่ ใยยาวเดี่ยว (-46.96%) พลาสติกปูพื้น (-12.08%) ฟิล์มที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (-6.09%) และเครื่องประกอบอาคาร (-12.34%) ซึ่ง สามผลิตภัณฑ์หลังคาดว่าเป็นผลมาจากความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก เดือนมกราคมถึงตุลาคม 2555 มีปริมาณรวม 449,350.62ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 18.17 คิดเป็นมูลค่ารวม 100,402.16 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง คือ ร้อยละ 10.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ทำให้ขาดดุลอยู่ 13,213.4ล้านบาท ผลิตภัณฑ์พลาสติกทุกรายการมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงเมื่อ เทียบกับปีก่อนหน้า โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการขยายตัวสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ เครื่องประกอบอาคาร เช่น กรอบประตู หน้าต่าง(478.23%) เครื่องสุขภัณฑ์ (36.68%) และพลาสติกปูพื้น (36.64%) ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อการก่อสร้างทั้งสิ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

การลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การขยายเครือข่ายรถไฟฟ้า ระบบชลประทาน การบริหารจัดการน้ำ ส่งผลให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง

การสนับสนุนให้เกิดการบริโภคขึ้นภายในประเทศ โดยนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายการปล่อยสินเชื่อ

สรุปและแนวโน้ม

อุตสาหกรรมพลาสติกปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัว ร้อยละ 3.53 ตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน ประกอบกับในปี 2554 มีฐานค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงผู้นำ จะส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกในระยะสั้น การส่งออกขยายตัวต่ำ โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.46 ในขณะที่การเพิ่มการลงทุนในประเทศจะส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมพลาสติกปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปี 2555 โดยมีปัจจัยหลัก มาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ สามารถพิจารณาปัจจัยต่างๆได้ ดังนี้

ผลกระทบเชิงบวก

  • การลงทุนภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า การลงทุนในแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว 3.5 แสนล้านบาท ในปี 2556
  • เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น จีน และญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโลกมีสัญญานปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการ QE3

ผลกระทบเชิงลบ

  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหดตัวของสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบในตลาดอาเซียน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ส่งไปยุโรป
  • ความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่แข่ง เช่น ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีต้นทุนการผลิตที่ได้เปรียบมากกว่าประเทศไทย และพยายามบุกตลาดอาเซียน

ประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมที่ต้องติดตาม

  • ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปต่อสินค้ากลุ่มยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องของอุตสาหกรรมพลาสติก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ