สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555 และแนวโน้มปี 2556(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 15:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2555 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียมีความผันผวน ตามราคาน้ำมันดิบ รวมถึงการปรับของอุปสงค์ อุปทานในตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองของประเทศผู้ผลิตหลักในตะวันออกกลางเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา อนุมัติมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม มาตรการจำกัดการใช้ทองคำแท่งซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน เพื่อหวังให้ยุติโครงการนิวเคลียร์ อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบลดลง

การผลิต

ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย มีการก่อสร้างโรงงานผลิตอีพิคลอโรไฮดรินด้วยเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลีเซอรีนธรรมชาติที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตไบโอดีเซลและออลิโอเคมีจากน้ำมันพืชแบบหมุนเวียน ขนาดกำลังการผลิต 100,000 ตัน/ปี โดยอีพิคลอโรไฮดรินเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตเรซินอิพอกซี (โพลิเมอร์พลาสติกสำหรับงานขึ้นรูป) คาดว่าจะเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี 2557

แม้ว่าไตรมาสที่ 3 ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาของการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเตรียมจำหน่ายในไตรมาสที่ 4 ที่เป็นเทศการคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน แต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องถึงต้นไตรมาสที่ 4 ของปี2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง จากความต้องการซื้อที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความแน่นอน

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 237,545.06 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 23.84เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 6.92 13.11 และ 30.58 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2554 ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยโดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำ รวมทั้งปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป ประกอบกับการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น ประเทศจีนและเวียดนามมีแผนการขยายกำลังการผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2556-2560 และบางแห่งเริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิต ส่งผลให้ตลาดมีความตึงตัวและลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทย

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 284,626.93 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 23.67 เมื่อเทียบกับปี 2554

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 98,997.46 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 29.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 15.30 41.35 และ 27.92 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2554 คาดว่าเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมปลายทางในประเทศเกิดการชะลอตัวลง ทำให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลง

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 118,484.64 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 27.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียในเดือนตุลาคม ปี 2555 ราคาอยู่ที่ 39.87 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2555 ที่ราคาเฉลี่ย 33.46 บาทต่อกิโลกรัม และราคาโพรพิลีนในเดือนตุลาคมปี 2555 อยู่ที่ 39.50 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในไตรมาส 3 ปี 2555

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, HDPE, และ PP ในเดือนตุลาคม ปี 2555 อยู่ที่ระดับ 43.02, 43.10 และ 44.76 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE และ HDPEและ PP มีระดับราคาลดลงเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในไตรมาส 3 ปี 2555

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

  • สรุปและแนวโน้ม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ลดลง โดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป รวมถึงมีแผนการขยายกำลังการผลิตส่งผลให้ลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากไทย

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่อุตสาหกรรมปลายทางในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้ม

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในปี 2555 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำตามไปด้วย

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2556 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในปี 2556 รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า การลงทุนแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวรวมถึงการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการ QE3(นโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ) ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ