สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555 และแนวโน้มปี 2556(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ปี 2555 ส่วนใหญ่มีการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษ ทั้งกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษลูกฟูก และกระดาษคราฟท์ ขณะนี้มีคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ปฏิทิน ไดอารี่ การ์ดอวยพร จำนวนมากเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ปี 2556 โดยคาดว่าจะเพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 20-30 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาไทยประสบภาวะน้ำท่วมช่วงปลายปี จึงทำให้บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ลดการแจกปฏิทินและไดอารี่ลง สำหรับยอดจำหน่ายหนังสืออ่านเล่นหรือพ็อกเกตบุ๊กนั้นยังคงมีทิศทางที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 เนื่องจากตลาดกลุ่มนี้ยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากสื่อดิจิทัลมีเดีย ที่เริ่มเข้ามาแทรกตลาดสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้น โดยส่วนใหญ่ที่เห็นชัดเจนจะเป็นประเภทนิตยสารหรือ แมกกาซีนต่าง ๆ ที่เริ่มมีโฆษณาลดลงเพราะสื่อดิจิทัลเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไประดับหนึ่ง แต่คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมาเบียดตลาดได้มากน้อยเพียงใดในระยะยาว

การผลิต

ในปี 2555 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมคาดว่าปริมาณการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เยื่อกระดาษกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.05 , 0.85, 7.98, 4.12 และ 4.13 ตามลำดับ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในผลิตภัณฑ์เดียวกันร้อยละ 7.05 , 0.85, 7.98 , 7.52 และ 3.05 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดภายในประเทศ และปรับขึ้นตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์เครื่องสำอางค์ และยา ที่ยังต้องใช้กล่องกระดาษบรรจุ (รายละเอียดตามตารางที่ 1 และ 2)

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปี 2555 คาดว่าปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปริมาณการส่งออก 135.67 พันตัน ลดลงร้อยละ 38.14เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 162.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 44.99 เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ลดลงตามคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักอย่างประเทศจีนอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ลดลงร้อยละ 36.17, 39.62 และ 50.42 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เยื่อกระดาษในประเทศเวียดนาม และลาว ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกหลักของเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ได้แก่ จีนอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 62.45, 7.92, 7.66, 4.39 และ 4.29ตามลำดับ (รายละเอียดตามตารางที่ 1 และ 2)

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ปี 2555 คาดว่าปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในปีนี้ พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.15 เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีมูลค่าการส่งออก1,163.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 27.21 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะกระดาษคราฟท์สำหรับใช้ผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกส่งออกลดลงในประเทศมาเลเซีย ร้อยละ 44.65 และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 78.32 สำหรับผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ เช่น กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษชำระและกระดาษเช็ดหน้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.98, 4.80, 18.37 และ 31.04 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย สัดส่วนร้อยละ 11.48, 8.76, 8.25 และ 8.12ตามลำดับ(รายละเอียดตามตารางที่ 3 และ 4)

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ปี 2555 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ 15.52 พันตัน ลดลงร้อยละ 36.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน และหากพิจารณาจากมูลค่าการส่งออก มีมูลค่า 18.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 24.35 ซึ่งสาเหตุหลักที่การส่งออกลดลงเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 25.19 เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศประกอบกับความต้องการบริโภคยังชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกลดลงค่อนข้างมาก ตลาดส่งออกหลักของหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไทย ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 12.54, 9.81, 9.03 และ 7.82 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ปี 2555 คาดว่ามีปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ 1,627.04 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.56 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อคิดเป็นมูลค่านำเข้ามีมูลค่า 688.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.57 เนื่องจากการผลิตในประเทศสามารถผลิตได้เป็นปกติแล้วหลังจากที่ประสบภัยจากน้ำท่วมเมื่อปีก่อน สำหรับเยื่อกระดาษที่นำเข้าส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ โดยเฉพาะเยื่อใยยาว ตลาดนำเข้าหลักในผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ ประเทศแคนาดา แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 16.00, 13.17, 13.15 และ 11.33 ตามลำดับ (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6)

2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ปี 2555 คาดว่ามีปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ 763.19 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คิดเป็นมูลค่านำเข้า1,144.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.92 เนื่องจากความต้องการบริโภคมีปริมาณมากขึ้น และมีการขยายตัวของการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียนจากจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.87 กระดาษแข็งนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.75 กระดาษคราฟท์จากประเทศสวีเดน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน เพื่อนำมา ใช้สำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ แหล่งนำเข้าที่สำคัญของกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และ อินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 15.75, 15.42, 13.97 และ 8.71ตามลำดับ (รายละเอียดตามตารางที่ 5 และ 6)

3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ ปี 2555 คาดว่ามีปริมาณนำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ 14.94พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 เมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อเทียบเป็นมูลค่านำเข้ามีมูลค่า 232.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.90 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าภาพพิมพ์ ภาพถ่าย หนังสือ และวารสาร โดยตลาดนำเข้าหลักของหนังสือและสิ่งพิมพ์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และ จีน สัดส่วนร้อยละ 25.91, 11.94, 11.48 และ 10.50 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. การรณรงค์และการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนสนใจและรักการอ่าน เพื่อรองรับให้กรุงเทพฯ เป็น World Book Capital ในปี 2013 ตามพันธกิจที่มีต่อยูเนสโก อาทิการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือเล่มแรก การส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการอ่านตลอดจนการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยการเปิดห้องสมุดเฉพาะ ได้แก่ ห้องสมุดวรรณกรรมและการท่องเที่ยว ห้องสมุดการ์ตูน

2. รัฐบาลมีมาตรการให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลาง (hub) ด้านการพิมพ์ โดยการสนับสนุนขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม เพื่อรองรับการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตในอุตสาหกรรม

สรุปและแนวโน้ม

สรุปภาวะการผลิต และการนำเข้า อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมในปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การจำหน่ายในประเทศมีมากขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวลงจากวิกฤตน้ำท่วมในปีที่ผ่านมา แต่ภาคการส่งออกยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อลดลง ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์รายใหญ่จากไทย ชะลอการนำเข้า ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน อีกทั้งสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะกระดาษที่นำไปผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์และวารสารต่างๆ มีความต้องการใช้ลดลง แต่ในขณะเดียวกันกระดาษลูกฟูกสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้า มีแนวโน้มขยายตัวตามภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหารเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ เครื่องสำอางค์ และยา เป็นต้น

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2556 คาดว่าการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวมจะเพิ่มขึ้น ทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งมีกระแสการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลาง (hub) ด้านการพิมพ์ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มวางแผนขยายธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติ รวมถึง ผู้ประกอบการไทยยังมีความพยายามที่จะรุกเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามซึ่งตลาดสิ่งพิมพ์ยังไม่โตเท่าเมืองไทย สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ ประเภทภาพพิมพ์ภาพถ่าย และอื่นๆ คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ