สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2555 และแนวโน้มปี 2556(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2013 15:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากมีแรงหนุนจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดหลักได้แก่ ประเทศในกลุ่ม AEC และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ

การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ ปี 2555 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 39.84 ล้านตัน และผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 41.21 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าการผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.24 และ 12.35 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาในภาพรวมคาดว่าในปี2555 ปริมาณการผลิตทั้งปูนซีเมนต์ และปูนเม็ด เมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.74

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในปี 2555 คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายรวม 34.71 ล้านตันแบ่งเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 1.03 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 33.67 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าการจำหน่ายปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.38 และในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.89 โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศเมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.13จะเห็นได้ว่าทั้งปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการใช้ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และการขยายตัวของภาคก่อสร้างตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2555 คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกรวม 13.40 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 671.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 6.20 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 262.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับปีก่อนปริมาณการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 4.76 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.49 ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) คาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกจำนวน 7.20 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 408.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.57 และ 30.37 ตามลำดับ และหากพิจารณาในภาพรวมคาดว่าการส่งออกปูนซีเมนต์ของปี 2555 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.24 และ 18.34 ตามลำดับจะเห็นได้ว่าปริมาณส่งออกปูนเม็ดมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ๆ ทั้งนี้เนื่องจากส่วนหนึ่งของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยได้ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เป็นตลาดหลัก เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจปูนซีเมนต์ในตลาดอาเซียน โดยในเบื้องต้นได้ขยายการลงทุนและเปิดตลาดในประเทศเมียนมาร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ได้ลงทุนในรูปแบบศูนย์กระจายสินค้าไปแล้ว แต่หากพิจารณาในภาพรวมปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2555 คาดว่ายังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศในแถบเอเซียใต้ (บังคลาเทศ และศรีลังกา)รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอื่นที่นำเข้าปูนซีเมนต์จากไทย เช่น โตโก ชิลี เคนยา และรียูเนียน เป็นต้นยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย 5 ลำดับแรก คือ เมียนมาร์ กัมพูชาบังคลาเทศ ลาว และโตโก ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ในปี 2555 คาดว่าจะมีปริมาณรวม 17,395.08 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 6.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.77 แต่มูลค่านำเข้ารวม ลดลงร้อยละ 2.27 โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 383.21 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 0.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 17,011.87 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 6.47ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง แหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตามลำดับ

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากมีการแข่งขันสูง แต่ผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญ รวมทั้งต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น จึงอาจจะส่งผลต่อราคาปูนซีเมนต์ในระยะต่อไปอย่างไรก็ตามปูนซีเมนต์จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าควบคุม การขึ้นราคาต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลมีมาตรการ/นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทางอ้อม โดยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อ เช่น โครงการบ้านหลังแรก รวมทั้งการลงทุนในสาธารณูปโภค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในปี 2555 คาดว่ายังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากอุทกภัย และเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมออกสู่ชานเมือง และนโยบายบ้านหลังแรก ทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมตามเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2555 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย และตลาดส่งออกนอกทวีปเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยคือ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาวโตโก และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในปี 2556 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนรองรับเส้นทางรถไฟฟ้า และโครงข่ายคมนาคมสู่ชานเมือง

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2556 คาดว่ายังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยล้วนเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกเป็นจำนวนมาก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ