การผลิต
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ในปี 2555 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 10.34 เมื่อเทียบกับปีก่อนตามการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ประกอบด้วย ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอกเมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน (รายละเอียดตามตารางที่ 1 ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง)
การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมถือว่ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงในช่วง 10 เดือนแรก เนื่องจากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย ประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรตาม การผลิตผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากตลาดในอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ
ในปี 2555 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ14.91 สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศ ประกอบด้วยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ สำหรับในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในประเทศเมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน (รายละเอียดตามตารางที่ 2ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ)
การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศยังขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในปี 2555 คาดว่ามีมูลค่าการส่งออกประมาณ 8,907.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงร้อยละ 34.50 ตามการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง สำหรับตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยปี 2555 คาดว่ามีมูลค่าการส่งออกประมาณ 8,379.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงในช่วง 10 เดือนแรก เนื่องจากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทยประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ได้ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากตลาดในอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย (รายละเอียดตามตารางที่ 3มูลค่าการส่งออกสินค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง)
การนำเข้า
ในปี 2555 การนำเข้ายางและเศษยาง คาดว่าจะมีมูลค่า 1,317.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.93 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ คาดว่าจะมีมูลค่า 1,402.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.18 (รายละเอียดตามตารางที่ 4 มูลค่าการนำเข้าสินค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง)
การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกรอบข้อตกลง FTA ส่งผลให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี
ราคาสินค้า
ราคายางปี 2555 ปรับตัวลดลง โดยลดลงต่ำสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2555เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้การบริโภคยางพาราอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง (รายละเอียดตามรูปที่ 1 และรูปที่ 2 ราคายางแผ่นดิบ และราคายางแผ่นรมควัน ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา)
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
1. นโยบายการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคายาง เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ เป็นการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของยางและผลักให้ราคายางเพิ่มขึ้น
2. กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมยางในขั้นกลางน้ำและปลายน้ำซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนายางต้นน้ำตามยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552 — 2556 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราของประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 อย่างไรก็ตามไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณ
ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จะดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราสู่มาตรฐานสากล และโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
สรุปและแนวโน้ม
สรุป
ในปี 2555 อุตสาหกรรม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกในรูปยางแปรรูปขั้นต้นชะลอตัวลงเนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมยังขยายตัวได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก รวมทั้งตลาดในแถบอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมมากนักแนวโน้ม
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้ รวมทั้งประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดียเวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป นอกจากนี้ กรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTAนอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในปี 2556 ยังมีความผันผวน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในด้านลบต่อราคายาง คือ ราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าและราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้การบริโภคยางพาราอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--