การผลิตและการจำหน่าย
จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2555 ดัชนีผลผลิต เครื่องเพชร พลอย และรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้องกัน (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) อยู่ที่ 51.27 ลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.13 ซึ่งเป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ชะลอตัว ดัชนีส่งสินค้า (ดัชนีการจำหน่าย)อยู่ที่ 51.18 ลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 5.68 ในขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ 115.58เพิ่มขึ้นจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 6.32 อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิต และดัชนีส่งสินค้าลดลง โดยดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น แต่มีการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกซึ่งสวนทางกับตัวเลขดัชนีดังกล่าว เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองต่อหน่วยเพิ่มขึ้นและมีการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปในระดับสูงมากกว่าปีก่อนหน้า
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก
จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2555 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออก (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 14,169.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 15.19 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เช่น เพชรมีมูลค่าการส่งออก 1,499.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.61 พลอยมีมูลค่าการส่งออก 632.53ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองมีมูลค่าการส่งออก 2,112.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.28 เนื่องจากราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น เครื่องประดับอัญมณีเทียมมีมูลค่าการส่งออก 375.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.16 อัญมณีสังเคราะห์มีมูลค่าการส่งออก124.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.28 และทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าการส่งออก 7,570.24ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.37 เป็นต้น
ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอินเดีย โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป สินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดฮ่องกงได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป พลอย และเพชร สินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และพลอย และสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดอินเดีย ได้แก่ เพชร พลอย และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง
การนำเข้า
จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2555 ไทยมีการนำเข้าสินค้าเครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ (ดูตารางที่ 3 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 12,709.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 36.19 สาเหตุที่มูลค่าการนำเข้าลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเป็นผลจากการนำเข้าเพชรที่มูลค่า 1,129.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 39.12 เงินมีมูลค่าการนำเข้า 676.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32.15 และทองคำมีมูลค่าการนำเข้า 10,337.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบนำเข้าอื่นๆได้แก่ พลอย อัญมณีสังเคราะห์ แพลทินัม และโลหะมีค่าและโลหะอื่นๆ ในด้านสินค้าสำเร็จรูปมีการนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีแท้เป็นมูลค่า 821.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.32 และเครื่องประดับอัญมณีเทียมเป็นมูลค่า 44.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.60 แหล่งนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย
สรุปและแนวโน้ม
สรุป
โดยสรุปภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2555เมื่อเทียบกับปี2554 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 3.13 ซึ่งเป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ชะลอตัว
ภาพรวมด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2555 จะมีการขยายตัวร้อยละ 15.19โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอินเดีย ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออก เพชร พลอย เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทอง เครื่องประดับอัญมณีเทียม อัญมณีสังเคราะห์ และทองคำยังไม่ขึ้นรูป
ด้านการนำเข้าในอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะลดลงร้อยละ 36.19 โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต
แนวโน้ม
สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2556 คาดว่าจะทรงตัว ซึ่งจะต้องติดตามมาตรการการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่อไป
สำหรับแนวโน้มด้านการส่งออก ในปี 2556 ปัจจัยบวก คือ ความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนที่มองการซื้อเพชร และทองคำยังไม่ขึ้นรูป เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย และตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีปัจจัยลบ คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ คาดว่าปัจจัยบวกจะส่งผลมากกว่าปัจจัยลบ ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกในปี 2256 จะขยายตัวได้
แนวโน้มด้านการนำเข้า ในปี 2556 อุตสาหกรรมนี้การนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นซึ่งจะสอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น