รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประจำเดือนมกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 20, 2013 15:21 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนธันวาคม 2555
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2555 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ร้อยละ 6.3 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เส้นใยสิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานที่ต่ำซึ่งเกิดจากเหตุอุทกภัยในเดือนธันวาคม2554
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.8 ลดลงจากร้อยละ 68.9 ในเดือนพฤศจิกายน 2555
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนมกราคม 2555

อุตสาหกรรมอาหาร

  • การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาลเพื่อรองรับเทศกาล สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการที่ประชาชนเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเป็นผลด้านจิตวิทยาต่อค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยตลาดที่ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นตลาดคู่ค้าหลักในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา จากการที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ชะลอตัว ในขณะที่ราคาสินค้าของไทยอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทำให้คาดว่าคำสั่งซื้อจากตลาดกลุ่มนี้อาจจะลดลง
ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2555

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ดัชนีอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 179.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (175.5) ร้อยละ 2.2 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (124.6) ร้อยละ 44.0

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การผลิตเบียร์ ยานยนต์ Hard Disk Drive การกลั่นน้ำมัน น้ำตาล เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเบียร์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ในปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 177.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 (172.86) ร้อยละ 2.5 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นได้แก่ ยานยนต์ เบียร์ การกลั่นน้ำมัน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน น้ำดื่ม เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 67.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 66.1) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 (ร้อยละ 47.2)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ โทรทัศน์สี ยานยนต์ การกลั่นน้ำมัน น้ำดื่ม เบียร์ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2554 ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี Hard Disk Drive การกลั่นน้ำมัน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ในปี 2555 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 65.23 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 (ร้อยละ 58.65) โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี การกลั่นน้ำมัน น้ำดื่ม เลนส์ เป็นต้น

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2556

แนวโน้มอุตสาหกรรมในภาพรวมปี 2556 มีปัจจัยบวก คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆและการลงทุนของภาครัฐ การเติบโตประเทศเศรษฐกิจใหม่ ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ นโยบายรถคันแรก อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรม คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การแข็งค่าของเงินบาท และต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นจากการปรับค่าแรง 300 บาท และจากปัจจัยดังกล่าวคาดการณ์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในปี2556 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI จะขยายตัวร้อยละ 3.5 — 4.5

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

พ.ย. 55 = 188.1

ธ.ค. 55 = 176.2

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • Hard Disk Drive
  • อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

พ.ย. 55 = 68.9

ธ.ค. 55 = 63.8

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • โทรทัศน์สี
  • อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม 2555 มีค่า 176.2 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555(188.1) ร้อยละ 6.3 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนธันวาคม 2554 (142.9) ร้อยละ 23.4

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน2555 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อนได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.8 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 (ร้อยละ 68.9) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนธันวาคม 2554 (ร้อยละ53.4)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์สี อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี เส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2555

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 306 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 366 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 11.05 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 68,305.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีการลงทุน 26,138.42 ล้านบาท ร้อยละ 161.32 และมีการจ้างงานจำนวน 9,838 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,365 คน ร้อยละ 54.56

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 276 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 10.87 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีการลงทุน 12,202.15 ล้านบาท ร้อยละ 459.78 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,552 คน ร้อยละ 30.27

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 26 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งภายในอาคารจากไม้ จำนวน 21 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2555 คืออุตสาหกรรมผลิตส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 45,822.43 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย จำนวนเงินทุน 10,800.00 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2555 คืออุตสาหกรรมผลิต ประกอบ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนคนงาน 3,264 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย จำนวนคนงาน 1,337 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2555 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 49 ราย น้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน2555 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 63 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.22 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม934.69 ล้านบาท มากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 394.08 ล้านบาท มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 6,365 คน มากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 1,631 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 68 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 27.94 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนธันวาคม 2554 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 587.35 ล้านบาท มีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนธันวาคม2554 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 1,614 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2555 คือ อุตสาหกรรมซ่อมและเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 4 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมพิมพ์ ทำแฟ้มเก็บเอกสาร เย็บเล่ม ทำปก ตบแต่งสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิมซั่ม ปูนปลาสเตอร์ อุตสาหกรรมทำเครื่องใช้เล็ก ๆ จากโลหะ และอุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป ทั้ง 4 อุตสาหกรรม จำนวน 3 โรงงาน เท่ากัน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2555 คืออุตสาหกรรมทำน้ำอัดลม เงินทุน 610.70 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผสมผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมเข้าด้วยกัน หรือผสมกับวัสดุอื่น เงินทุน 51.80 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2555คือ อุตสาหกรรมทำน้ำอัดลม จำนวนคนงาน 3,157 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 3,098 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2555 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 2,262 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,649 โครงการ ร้อยละ 37.17 และมีเงินลงทุน 983,900 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 447,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 119.96

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - ธันวาคม 2555
            การร่วมทุน                จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%            813                     247,300
          2.โครงการต่างชาติ 100%           886                     292,300
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ     563                     444,400
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — ธันวาคม 2555 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 395,700 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 204,700 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลส่วนการจำหน่ายภายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการที่ประชาชนเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเป็นผลด้านจิตวิทยาต่อค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มจะปรับเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนธันวาคม2555 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.3 แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.6 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 20.1 และ 7.6 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อชะลอตัวลงจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปประกอบกับเกิดโรคระบาดในแหล่งผลิตกุ้ง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบลดลง แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าสำคัญโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อน เช่น มันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากวัตถุดิบที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ส่วนการผลิตน้ำตาล มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1,272.1 แต่ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.4 จากคุณภาพอ้อยที่ต่ำลงเมื่อพิจารณาจากค่า CCS. (หน่วยวัดความหวานของอ้อย) ที่ได้ลดลง กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการผลิตลดลงโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 5.2 เป็นผลจากความต้องการที่ชะลอตัวลง ประกอบกับสต็อกมีปริมาณสูง และน้ำมันถั่วเหลือง มีการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 6.2 ภายหลังราคาวัตถุดิบนำเข้าชะลอตัวลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนธันวาคม 2555 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ5.8 แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.3 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนธันวาคม ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อน ร้อยละ 7.1 และ 11.1 ตามลำดับ เนื่องจากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลง ประกอบค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เพื่อรองรับเทศกาล สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากการที่ประชาชนเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเป็นผลด้านจิตวิทยาต่อค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยตลาดที่ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นตลาดคู่ค้าหลักในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา จากการที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ชะลอตัว ในขณะที่ราคาสินค้าของไทยอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์สำคัญ ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน ยางยืด และเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ ลดลงร้อยละ 3.1, 4.0, 11.0, 14.0, 10.3 และ 2.6 ตามลำดับ แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน และผ้าลูกไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1, 10.0 และ 8.7 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไทยในตลาดอาเซียนยังมีอยู่มาก ซึ่งจะเป็นโอกาสให้การผลิตเพิ่มสูงขึ้น สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ ลดลงร้อยละ 10.0 และ 10.6 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนมีการจำหน่ายลดลงสอดคล้องกับภาคการผลิต แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นของขวัญของที่ระลึกช่วงเทศกาลต่าง ๆ

การส่งออกโดยรวม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 2.9 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ลดลง ได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ร้อยละ 2.6, 2.0, 2.2, 0.2, 3.3 และ 2.2 ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกลดลงในตลาดญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรปร้อยละ 8.1, 1.2 และ 2.0 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในภาพรวมลดลงเช่นกันร้อยละ 3.5 โดยเฉพาะกลุ่มเส้นใยประดิษฐ์ ลดลงร้อยละ 10.4 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน ปากีสถาน และบังคลาเทศ ลดลงร้อยละ 20.9, 4.7 และ 27.2 ตามลำดับ และกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 12.0ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และ เบลเยี่ยม ลดลงร้อยละ 6.8,15.1 และ 38.3 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยตลาดที่ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นตลาดคู่ค้าหลักในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา จากการที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ชะลอตัว ในขณะที่ราคาสินค้าของไทยอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งทำให้คาดว่าคำสั่งซื้อจากตลาดกลุ่มนี้อาจจะลดลง

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนได้มีมติให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นเคลือบด้วยสังกะสีแบบจุ่มร้อนแล้วทาสีและเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อนแล้วทาสี ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลีและไต้หวัน

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนธันวาคม 2555 หดตัวลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 111.50 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงถึง ร้อยละ 16.65 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 25.88 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงถึง ร้อยละ 48.20 เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีจึงมีวันทำงานน้อยกว่าปกติ ประกอบกับลูกค้าจะไม่สั่งซื้อสินค้าเพื่อสะสมเป็นสต๊อกข้ามปี นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากผู้ผลิตรายใหญ่ได้หยุดสายการผลิตประจำปี (Annual Shutdown) เป็นเวลา 14 วัน จึงมีผลทำให้การผลิตเหล็กชนิดนี้น้อยลง เหล็กแผ่นที่มีการผลิตลดลงรองลงมา คือเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 26.56 สำหรับกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่ามีการผลิตที่ลดลงร้อยละ 3.70 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่เหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 12.71รองลงมาคือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลง ร้อยละ 10.11 เนื่องจากเป็นการบริหารจัดการสินค้าคลังในช่วงสิ้นปี ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.78 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.06 เหล็กทรงยาว มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.01

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนธันวาคม 2555 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้น ได้แก่เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 101.74 เป็น 103.48 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.71 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 108.20 เป็น 109.43 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.14 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 114.88 เป็น 115.42 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.47 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาเหล็กที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 122.70เป็น 121.15 ลดลง ร้อยละ 1.26 เหล็กเส้น ลดลงจาก 122.76 เป็น 122.34ลดลง ร้อยละ 0.34 โดยจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีดัชนีราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นจะเป็นในส่วนของเหล็กทรงแบนแต่ในส่วนของเหล็กทรงยาวจะมีราคาที่ลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนมกราคม 2556 คาดว่าการผลิตเหล็กทรงยาวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของภาครัฐและโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลการผลิตเหล็กชนิดดังกล่าวเพิ่มขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากในเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมาผู้ผลิตยานยนต์ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมภายในประเทศทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้ ประกอบกับผู้ประกอบการมีการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 221,353 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีการผลิต 99,426 คัน ร้อยละ 122.63 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ร้อยละ 13.73 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 144,676 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 54,575 คัน ร้อยละ 165.10 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ร้อยละ 2.41 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 86,297 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีการส่งออก 35,046 คัน ร้อยละ 146.24 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา กลาง และอเมริกาใต้ แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ร้อยละ 13.90 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชียตะวันออกกลาง และแอฟริกา
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2556 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2555 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 54 และส่งออกร้อยละ 46

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2555 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับได้รับผลดีจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนธันวาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 183,384 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีการผลิต 151,185 คัน ร้อยละ 21.30 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ร้อยละ 6.73 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 152,894 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีการจำหน่าย 122,377 คัน ร้อยละ 24.94 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวแบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ร้อยละ 7.77โดยเป็นการปรับลดลงของรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวแบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 26,449 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งมีการส่งออก 16,178 คันร้อยละ 63.49 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ร้อยละ 9.96
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม2556 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2555 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2556 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 69 และส่งออกร้อยละ 31
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกมีแนวโน้มที่ดีจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างในภูมิภาค โดยเฉพาะในตลาดหลักของไทย ได้แก่เมียนมาร์ และลาว”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.43 และ 0.62 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.65 และ 11.65 ตามลำดับเมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามพื้นที่บริเวณโครงการรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนธันวาคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.05 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 8.41 เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนยังดีต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะเมียนมาร์ อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทยบางรายจะยังคงลดปริมาณการส่งออกลงเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศต่อไป

3.แนวโน้ม

โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ จะทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูงขึ้นส่งผลให้แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวสูงขึ้นตาม ประกอบกับไตรมาสแรกของทุกปี เป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูการก่อสร้าง จึงคาดว่าอุปสงค์ต่อปูนซีเมนต์จะเพิ่มมากขึ้นเช่นทุกปี

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากตลาดหลักของไทย ได้แก่ เมียนมาร์ และลาว มีการขยายตัวของภาคก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของกัมพูชาจะชะลอตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลกระทบในด้านลบอื่นๆ อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยบ้าง แต่ไม่มากนัก

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนธันวาคม2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ265.75ลดลงร้อยละ8.87 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนแต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ53.11เนื่องจากในเดือนธันวาคม 2554ประสบกับปัญหาอุทกภัยทำให้ฐานการผลิตอยู่ในระดับต่ำ

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ธ.ค. 2555

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า (ล้านเหรียญฯ)        %MoM            %YoY
          เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ              1,401.57            -11.47           29.04
          วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี                        661.70             23.13           67.21
          เครื่องปรับอากาศ                                  315.25             12.36           28.86
          เครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ            171.54             -1.98           58.14
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                  4,273.41             -6.12           22.72
          ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนธันวาคม 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 265.75 ลดลงร้อยละ 8.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.11เนื่องจากฐานการผลิตในเดือนธันวาคมอยู่ในระดับต่ำ เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 9.81เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.67 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 8.71 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ63.38 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มในทุกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (ยกเว้น Printer ที่ปรับตัวลดลง) เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยทำให้ฐานการผลิตในเดือนธันวาคม 2554 อยู่ในระดับต่ำ

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนธันวาคม 2555 มีมูลค่า 4,273.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.12 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.72 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,706.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.30 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.56เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดได้แก่เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 315.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.36 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนรองลงมาคือ เครื่องรับโทรทัศน์สีมีมูลค่าส่งออก 148.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 8.41 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 2,567.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.38 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าส่งออก 1,401.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 11.47 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.04 สำหรับวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลีมีมูลค่าส่งออก 661.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 23.13 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.21

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมกราคม2556 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 19เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ