ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2555 อยู่ที่ 107.30 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2554 อยู่ที่ 104.94 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นยังคงปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556) อยู่ที่ 96.64 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้น ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
ในส่วนของเศรษฐกิจไทยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี2555 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 และชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 คือ การหดตัวของอุปสงค์ระหว่างประเทศขณะที่อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังขยายตัว ซึ่งประกอบด้วย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน เป็นการขยายตัวจากการบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะสินค้าหมวดยานยนต์ รวมทั้งหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร เครื่องดื่ม น้ำประปา ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ยารักษาโรค การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวดีขึ้น ส่วนดุลการค้าและบริการเกินดุลเทียบกับที่ขาดดุลในไตรมาสที่แล้ว
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 หดตัวร้อยละ 1.1 หดตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 เป็นผลจากอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ในขณะที่การผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 สำหรับการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 — 5.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 การส่งออกมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2555 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว โดยในไตรมาสที่ 4 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 120,652.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 57,181.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 63,470.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 นั้นมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.83 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.87 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ดุลการค้าขาดดุล 6,288.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ18.47 จากฐานต่ำในปีก่อนที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ขึ้น ส่วนมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.44
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 77,130.15 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 47,407.36 ล้านบาท
สำหรับเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 29,722.79 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 19,791.12 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 13,251.49 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 2.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 616 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 478 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 283,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากในปีก่อนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 289 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 103,000 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 155 โครงการ เป็นเงินลงทุน 103,600 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 172 โครงการ เป็นเงินลงทุน 77,100 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 116,800 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 67,900 ล้านบาท และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 40,300 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 228 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 99,535 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศออสเตรเลียได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 9 โครงการ มีเงินลงทุน 12,054 ล้านบาท ประเทศไต้หวันมีจำนวน 13 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 7,511 ล้านบาท และประเทศเนเธอร์แลนด์มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 9 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 5,544 ล้านบาท
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีประมาณ 1,641,054 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 53.11 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.88 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.12 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.57 เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ ในขณะที่เหล็กแผ่นรีดร้อน กลับมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 7.70 เนื่องจากภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูงมากจากการนำเข้าสินค้าที่ราคาถูกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กปี 2556 คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการขยายการผลิตเนื่องจากมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ซึ่งถึงแม้จะสิ้นสุดระยะเวลาแล้วแต่ก็ยังมีรถยนต์ที่ยังรอการส่งมอบอีก และอุตสาหกรรมก่อสร้างจากการที่โครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ขยายตัวอยู่ สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่ดีสำหรับการกระจายสินค้าไปยังตลาดในภูมิภาคอาเซียน สำหรับการผลิตในประเทศจะเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นหลัก สำหรับปัญหาการขยายตัวของการนำเข้าเหล็กประเภทกลุ่มที่เป็นเหล็กกล้าเจือ (Alloyed product) ที่มีอย่างต่อเนื่องนั้น กรมการค้าต่างประเทศได้ประกาศเปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้นพ.ศ.2555 ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มการนำเข้าเหล็กดังกล่าวลดลงและส่งผลให้คำสั่งซื้อของผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของไทยกลับมาผลิตได้ตามเดิม
ยานยนต์ เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2555 (ต.ค.-ธ.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 730,099 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 172,560 คันร้อยละ 323.10 โดยเป็น การผลิตรถยนต์นั่ง 320,186 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 396,643 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 13,270 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 424.08 , 270.55 และ 199.95 เนื่องจากผู้ประกอบการมีการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ผลิตยานยนต์ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วมภายในประเทศ ทำให้ไม่สามารถทำการผลิตในช่วงดังกล่าวได้ หากพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2555 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.53 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.64 รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.91 และ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.81 ตามลำดับ
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่หนึ่งของปี 2556 คาดว่าการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่การผลิตรถยนต์คาดว่าจะขยายตัวเนื่องจากผู้ผลิตเร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าตามคำสั่งซื้อในประเทศ ซึ่งมาจากการสั่งจองรถยนต์ตามนโยบายรถยนต์คันแรกในปี 2555
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 263.13 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนโดยมาจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 7.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.50 เนื่องจากฐานการผลิตในไตรมาส 4/2554 อยู่ในระดับต่ำเพราะอุตสาหกรรมไม่สามารถผลิตได้ตามปกติจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวได้ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยจะมาจากความต้องการในประเทศที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะมีการขยายตัวร้อยละ 4.52 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 3.94 เนื่องจากการส่งออกอยู่ในภาวะชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวขณะที่ในตลาดอาเซียนและสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะขยายตัวได้ค่อนข้างดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ นอกจากนี้จากการรายงาน Semiconductor Industry Association (SIA) ของสหรัฐอเมริกาได้คาดการณ์ว่าตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของโลกในปี 2556 จะมีการขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยเอเชียแปซิฟิกจะมีการขยายตัวมากที่สุดร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนตามลำดับ สำหรับสหภาพยุโรปค่อนข้างทรงตัวคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนฅ
เคมีภัณฑ์ ในปี 2555 โดยภาพรวมอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากหลายบริษัทเริ่มที่จะกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมหลังจากประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีก่อน ประกอบกับมาตรการบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกของภาครัฐ ที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากผ่านเหตุการณ์สึนามิอีกทั้ง ปัจจัยหนุนตามฤดูกาลในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และตรุษจีน ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ทำให้หลายบริษัทเร่งกำลังการผลิต จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีภาวะดีขึ้น
แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2556 จะขึ้นอยู่กับสถานะการณ์เศรษฐกิจโลก ได้แก่การแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาหรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ชัดเจนต่อการปรับเพิ่มค่าแรงงาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวหากยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศ
พลาสติก ไตรมาส 4 ปี 2555 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 254,095.51 ตัน ลดลงร้อยละ 0.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรป และปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลไปยังหลายภูมิภาคในโลก รวมทั้งประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าที่มีการส่งออกลดลงได้แก่ ใยยาวเดี่ยวพลาสติกปูพื้น แผ่นฟิล์มฟอยล์ และเครื่องใช้ในครัวเรือน ลดลงร้อยละ 43.09 1.41 3.92 และ 8.15 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมพลาสติกในปี 2556 น่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเนื่องจากแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนในปี 2556 นอกจากนี้ ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศคาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2555 แม้จะยังมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นภาคการส่งออกในปี 2556 น่าจะกลับมามีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
ปิโตรเคมี ไตรมาส 4 ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ลดลง โดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศต่างๆ แผนการขยายกำลังการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้า ส่งผลให้การนำเข้าจากไทยลดลง
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2556 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในปี 2556 รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า การลงทุนแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว รวมถึงการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้นโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (มาตรการ QE3) ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรปยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยรวมของไตรมาส 4 ปี 2555 ลดลง เนื่องจากมีการเร่งส่งมอบสินค้าในไตรมาสก่อนเพื่อรองรับเทศกาลปลายปีไปแล้ว สำหรับภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าทั้งปี 2555 เทียบกับปี 2554 ในส่วนของการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษ เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเติบโตในการผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งพิมพ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการส่งออก สำหรับในส่วนการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวม ทั้งปี 2555 ปรับตัวลดลง เป็นเพราะผู้นำเข้าหลัก เยื่อกระดาษ และกระดาษโดยเฉพาะประเทศอาเซียนชะลอการนำเข้า เนื่องจากการใช้ในกลุ่มประเทศนี้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งผู้นำเข้าหลักหนังสือและสิ่งพิมพ์อย่างสหรัฐอเมริกาชะลอการนำเข้าเช่นกันเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศ
แนวโน้มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2556 คาดว่า การผลิตทั้งเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯส่งผลให้มีความต้องการสื่อสิ่งพิมพ์ในการประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง สำหรับในส่วนการส่งออกและนำเข้า คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามแนวโน้มการขยายตัวของภาคการผลิตและเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าจะมีการใช้สื่อดิจิทัลอย่างกว้างขวาง แต่กระดาษและสิ่งพิมพ์ยังคงมีความสำคัญกับการใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งต้องมีการพัฒนาวิจัยการออกแบบใหม่ ๆให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างลงตัว
เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 39.31 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.59 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 10.58และ 10.67 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามปกติที่การผลิตจะลดต่ำลงในช่วงไตรมาส 4 ของปี เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่มียอดขายต่ำสุด สำหรับการผลิตเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก เป็นการเปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดน้ำท่วมหนัก โดยกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.47 และ 18.66 ตามลำดับ
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลขาย อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ใช้สิทธิ์จากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก อาจชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไปอีกระยะหนึ่ง จึงทำให้การขยายตัวของตลาดเซรามิกที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาจไม่สูงมากนัก สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดในประเทศเป็นสำคัญ
ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ในภาพรวมทั้งปี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 (2555-2564) เป็นระยะพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืน เพื่อกระจายผู้โดยสารในเมืองอย่างทั่วถึง และโครงการขยายเส้นทางจราจรทางหลวงหมายเลขต่างๆ เพื่อสนับสนุนระบบการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างให้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และประหยัดเวลาการเดินทาง
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามพื้นที่บริเวณโครงการรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตและการจำหน่ายของเส้นใยสิ่งทอฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในไตรมาส 4 ปี 2555 ลดลง เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อลดลงสอดคล้องกับการจำหน่ายที่ลดลง สำหรับการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมของไตรมาส 4 ปี 2555 ลดลงร้อยละ 1.07 ส่วนใหญ่เป็นการปรับตัวลงของกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของเครื่องนุ่งห่มไทย ประกอบกับราคาสินค้าของไทยอยู่ในระดับสูงโดยเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดกลุ่มนี้ลดลง
แนวโน้มการผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไตรมาส 1 ปี 2556 คาดว่าจะมีปัจจัยลบ ได้แก่ ความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ยังส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการผลิตและการส่งออกที่อาจชะลอตัวลง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีสายการผลิตที่มีศักยภาพในการแข่งขัน จึงควรเร่งพัฒนา คุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งหาลู่ทางในการขยายการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เพื่อการแข่งขันที่สูงขึ้นและปรับตัวรับกับการเปิดเสรี AEC ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากตลาดอาเซียนที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี และตลาดเกิดใหม่ในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ที่จะเป็นตลาดสำคัญในการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในระยะต่อไป
ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีปริมาณ 2.13 ล้านชิ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 10.13 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 การผลิตที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบ และโดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิต สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2555 มีปริมาณ 8.92 ล้านชิ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48
การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มทรงตัว จากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการปรับค่าแรงงาน 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2556 ก็มีแนวโน้มทรงตัว จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก คือ การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจทำให้ความต้องการเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้น
ยา ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 การผลิตยาในประเทศมีปริมาณ 6,978.14 ตัน เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.97 เนื่องจากในไตรมาสนี้ไม่เกิดปัญหามหาอุทกภัยในหลายพื้นที่เช่นช่วงปลายปีก่อน ซึ่งทำให้หลายโรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการ หรือต้องหยุดผลิตชั่วคราว นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าว ยังทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อทำการผลิตได้ เพราะเส้นทางคมนาคมถูกน้ำท่วม ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงมากในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 1.98 เนื่องจากมีการผลิตไปมากแล้วในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 คาดว่า ปริมาณการผลิตจะลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพราะในช่วงปลายปีผู้ผลิตมีสินค้าคงคลังอยู่ปริมาณมาก จึงต้องการระบายสินค้าที่มีอยู่ก่อนเนื่องจากยามีอายุการใช้งาน และคาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่าลดลงเช่นกัน จากการที่ผู้สั่งซื้อยังมีสินค้าจากปีก่อนเหลืออยู่ สำหรับปริมาณการจำหน่ายในประเทศและมูลค่าการนำเข้า มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากสถานพยาบาลภาครัฐซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ได้เร่งใช้จ่ายงบประมาณในช่วงปลายปีงบประมาณไปแล้ว โดยสถานการณ์อุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามวัฏจักรธุรกิจ
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ภาวะอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวม ไตรมาสที่ 4 ปี2556 ชะลอตัวลงจากการส่งออก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และการชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในจีนนอกจากนี้อุตสาหกรรมยางยานพาหนะได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ความต้องการในตลาดอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทดแทนการส่งออกที่ลดลงได้
แนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มจะปรับตัวดีขึ้น แต่คาดว่าจะยังคงมีความผันผวนอย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมยางล้อคาดว่าจะมีปัจจัยบวกจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน สำหรับราคายางคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และอุปทานยางธรรมชาติกำลังจะลดลง เนื่องจากกำลังจะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ไตรมาส 4 ปี 2555 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 ส่วนการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ลดลงร้อยละ 2.15 และการผลิตรองเท้า ลดลงร้อยละ 8.78เนื่องจากอุตสาหกรรมรองเท้ากำลังได้รับผลกระทบจากต้นทุนด้านแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีบางโรงงานอาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ชะลอตัวลงร้อยละ 0.19ส่วนการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และการผลิตรองเท้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.01 เนื่องจากฐานปีที่แล้วต่ำกว่าจากสถานการณ์อุทกภัยช่วงปลายปี 2554
ปี 2556 คาดว่าการส่งออกรองเท้าจะลดลงกว่าปี 2555 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะยังคงชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า การส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียนจะมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและเวียดนามที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดเมียนมาร์ที่มีความต้องการรองเท้ามากขึ้น จึงมีโอกาสนำเข้าจากไทยมากขึ้นด้วย สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องหนังคาดว่า จะสามารถขยายตัวได้เช่นเดียวกันจากความต้องการใช้สินค้าต่อเนื่อง เช่น เบาะรถยนต์ ที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์
อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 4 ปี2555 ด้านการผลิตลดลงร้อยละ 2.79 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในส่วนการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 56.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี ลดลงร้อยละ 10.48 เครื่องประดับแท้ลดลงร้อยละ 6.20 อัญมณีสังเคราะห์ลดลงร้อยละ 12.46 และโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 11.60 นอกจากนี้การส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปลดลงเช่นกันร้อยละ 81.12 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสนี้ลดลง
แนวโน้มภาพรวมการผลิตและการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 คาดว่า จะมีปัจจัยบวกคือ ความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มพิจารณาการซื้อเพชร และทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยประกอบกับตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นยังมีการเติบโตที่ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แก่ การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งคาดว่าปัจจัยบวกและปัจจัยลบจะส่งผลใกล้เคียงกัน ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.70 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงร้อยละ 3.28 เป็นผลจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าซบเซา
การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 คาดว่า ทิศทางการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวได้จากการปรับขึ้นค่าแรง ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัวประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก ที่คาดว่าจะปรับชะลอตัวลงเนื่องจากค่าเงินบาทที่มักจะแข็งค่ารุนแรงกว่าเงินสกุลอื่น ซึ่งเป็นผลจากการเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยและเอเชียมาก
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--