สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight

  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 263.13 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 274.48 ลดลงร้อยละ 14.06 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 17.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.43 เนื่องจากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 มีมูลค่า 54,156.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ทำให้การส่งออกมีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน
  • ในปี 2556 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีการปรับตัวดีขึ้น โดยประมาณการว่าการผลิตจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 โดยจะมาจากความต้องการในประเทศที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2555

การผลิต

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 263.13 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมาจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 7.80 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.50 เนื่องจากฐานการผลิตในไตรมาส 4/2554 อยู่ในระดับต่ำเพราะอุตสาหกรรมไม่สามารถผลิตได้ตามปกติจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554

ภาวะการผลิตในปี 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 274.48 ลดลงร้อยละ 14.06 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้ในช่วงต้นปี 2555 ต้องหยุดการผลิตหรือชะลอการผลิตออกไป เพราะอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการให้สามารถกลับมาผลิตได้เช่นเดิม โดยสามารถเริ่มกลับมาผลิตได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามบริษัทบางรายได้ปิดกิจการ หรือย้ายบริษัทไปตั้งที่อื่นแทน รวมถึงบริษัทแม่ของบางรายยังไม่มีการเพิ่มยอดการผลิตให้กับฐานการผลิตในไทยเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว

อุตสาหกรรมไฟฟ้าในปี 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 122.23 เพิ่มขึ้น 6.43 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ สายไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.06 เมื่อเทียบกับปีก่อนจากภาวะการก่อสร้างทั้งของเอกชนในโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย (บ้าน คอนโดมิเนียม) และภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัว เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบจำหน่ายไฟฟ้า จึงทำให้ความต้องการใช้สายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.51 18.31 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน มาจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนในปีนี้ ทำให้ความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ360.83 ลดลงร้อยละ 17.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับลดลงในทุกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยในกลุ่ม Monolithic Integrated Curcuits มีการปรับตัวลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ 56.04รองลงมาคือ Semiconductor Devices Transisters และ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 48.14 16.35 ตามลำดับเนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ซึ่งในช่วงต้นปีอยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้สามารถกลับมาผลิตได้นอกจากนี้ บริษัทบางรายปิดกิจการ หรือย้ายการผลิตไปอยู่ที่อื่นแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมถึงความไม่มั่นใจว่าจะประสบอุทกภัยในปีนี้หรือไม่ ทำให้บริษัทแม่ชะลอการผลิตในประเทศไทย แต่ไปเพิ่มยอดการผลิตฐานการผลิตในประเทศอื่นแทน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 4/2555 ส่วนใหญ่มีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยกเว้นในกลุ่มเครื่องปรับอากาศคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแฟนคอยส์ เตาอบไมโครเวฟที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.65 17.42 และ12.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการปรับตัวดีขึ้น

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในปี 2555 มีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554 โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรับอากาศคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแฟนคอยส์ และตู้เย็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.12 27.21 และ 32.93 ตามลำดับ เพราะความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าทำการตลาดร่วมกับเจ้าของโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากขึ้น

การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 4/2555 โดยรวมมีมูลค่า 13,257.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.92 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นชะลอตัว ทำให้มีความต้องการลดลง แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.81 ซึ่งสอดคล้องกับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 4/2555 มีมูลค่า 5,603.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.58เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่า 7,653.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.51

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 มีมูลค่า 54,156.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตลาดส่งออกหลักเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 16 13 และ 13 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งหมด ตามลำดับ(รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3) โดยสหรัฐอเมริกาเปน็ ตลาดหลักที่มีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนอาเซียน สหภาพยุโรปและจีนมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9 2.4 และ 3.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2555 มีมูลค่า 22,829.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 13.9 รองลงมา คือ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 6 และ 2 ตามลำดับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่า 3,450.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยเป็นการขยายตัวมาจากการส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อน) 2) กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอ ภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ มีมูลค่า 2,279.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน(โดยสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด) 3) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้ารวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่า 1,987.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยมาจากตลาดจีนที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน)การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 มีมูลค่า 31,327.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในปี 2554 ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ทำให้มีฐาน

การส่งออกค่อนข้างต่ำ ซึ่งในปี 2555 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการและมีบริษัทบางรายปิดกิจการ หรือย้ายกิจการไปอยู่ที่อื่นแทน ทำให้มูลค่าการส่งออกไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกไม่ได้ปรับตัวลดลงมากนัก เนื่องจากในช่วงต้นปี 2555 ราคา HDD มีการปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ทำให้มูลค่าการส่งออก HDD ยังขยายตัวได้ถึงร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 19,387.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน 2) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่า 6,982.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน 3) เครื่องส่ง-เครื่องรับวิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ เครื่องเรดาห์ มีมูลค่า 1,232.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ตลาดหลักในการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 31.6เมื่อเทียบกับปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2555 มีมูลค่า 12,116.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.39เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นตามการผลิตและการส่งออกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 4/2555 คิดเป็นมูลค่า 5,154.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2555 มีมูลค่า 6,962.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 มีมูลค่า 47,441.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตลาดนำเข้าหลักเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 22 19 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งหมด ตามลำดับ (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4)

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2555 มีมูลค่า 20,234.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่1) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ปลั๊ก socket) มีมูลค่า 4,382.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน2) ส่วนประกอบเครื่องรับโทรทัศน์ มีมูลค่า 2,212.40 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 3) เทปแม่เหล็กและจานแม่เหล็ก แผ่น CD สำหรับบันทึกเสียง ภาพ(Thumb Drive Smart Card) มีมูลค่า 1,254.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบ/ชิ้นส่วนเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่อไป

การนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 มีมูลค่า 27,206.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่1) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่า 9,245.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.9เมื่อเทียบกับปีก่อน 2) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 8,045.90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 3)โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีมูลค่า 2,846.31 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2555

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2555 โดยภาพรวมอยู่ในช่วงของการปรับปรุงกิจการหลังจากประสบอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้การผลิตและการส่งออกอยู่ในภาวะชะลอตัว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าได้รับผลดีจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศในการกระตุ้นให้การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศมีการขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปี 2554

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2556

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2556 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวได้ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยจะมาจากความต้องการในประเทศที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 3เมื่อเทียบกับปี 2555 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะมีการขยายตัวร้อยละ 4.52 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 3.94 เนื่องจากการส่งออกอยู่ในภาวะชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวขณะที่ในตลาดอาเซียนและสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะขยายตัวได้ค่อนข้างดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ นอกจากนี้จากการรายงาน Semiconductor Industry Association(1) (SIA) ของสหรัฐอเมริกาได้คาดการณ์ว่าตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของโลกในปี 2556 จะมีการขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยเอเชียแปซิฟิกจะมีการขยายตัวมากที่สุดร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนตามลำดับ สำหรับสหภาพยุโรปค่อนข้างทรงตัวคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน

หมายเหตุ

(1) SIA ได้รายงานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ