การตลาด
การนำเข้า
จากตัวเลขการนำเข้าในปี 2555 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 457,360 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้าเคมีภัณฑ์พื้นฐานร้อยละ 58.15 และเคมีขั้นปลายร้อยละ 42.85 โดยเคมีภัณฑ์พื้นฐานมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในปี 2555 เมื่อเทียบกับปี 2554 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ อนินทรีย์ ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในปี 2555 เมื่อเทียบกับปี 2554 ได้แก่ เครื่องสำอาง รองลงมาได้แก่ สี และปุ๋ยเคมี ตามลำดับ
เคมีภัณฑ์ที่มีการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่ารวม 104,266 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.80 ของการนำเข้าเคมีภัณฑ์รวมในปี 2555 โดยเคมีภัณฑ์ซึ่งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ได้แก่ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ปุ๋ยเคมี เครื่องสำอาง สี และสารลดแรงตึงผิว และเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ ตามลำดับ
การส่งออก
จากตัวเลขการส่งออกรวมในปี 2555 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มีมูลค่าการส่งออกรวม 230,284 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้าเคมีภัณฑ์พื้นฐานร้อยละ 53.76 และเคมีขั้นปลายร้อยละ 46.24 โดยเคมีภัณฑ์พื้นฐานที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2555 เมื่อเทียบกับปี 2554 ได้แก่เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด ส่วนเคมีภัณฑ์ขั้นปลายที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2555เมื่อเทียบกับปี 2554 ได้แก่ สี เครื่องสำอาง ปุ๋ยเคมี และสารลดแรงตึงผิว ตามลำดับ
เคมีภัณฑ์ที่มีการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่ารวม 53,860 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.39 ของการส่งออกรวมในปี 2555 โดยเคมีภัณฑ์ซึ่งมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ได้แก่ สี เครื่องสำอาง และปุ๋ยเคมี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจะมีมูลค่าที่ลดลงทุกรายการ
ในภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2555 มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกหรือขาดดุลการค้าอยู่ที่มูลค่า 227,077 ล้านบาท จะมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และสารลดแรงตึงผิว ที่มีการส่งออกมากกว่าการนำเข้าคิดเป็นมูลค่ารวม 26,354 ล้านบาท และเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าการนำเข้า 5,965 ล้านบาท ถึงแม้ไทยจะมีมูลค่าการส่งออกมากกว่าการนำเข้าเคมีภัณฑ์บางรายการ แต่ในภาพรวมเคมีภัณฑ์ยังขาดดุลการค้าอยู่ โดยในปี 2555 มีการขาดดุลการค้าเคมีภัณฑ์มีมูลค่า 227,077 ล้านบาท
สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2555
อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2555 โดยภาพรวมอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากหลายบริษัทเริ่มที่จะกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมหลังจากประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีก่อน ประกอบกับมาตรการบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกของภาครัฐ ที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากผ่านเหตุการณ์สึนามิ อีกทั้ง ปัจจัยหนุนตามฤดูกาลในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่และตรุษจีน ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ทำให้หลายบริษัทเร่งกำลังการผลิต จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีภาวะดีขึ้น
สรุปและแนวโน้มปี 2556
แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2556 จะขึ้นอยู่กับสถานะการณ์เศรษฐกิจโลก ได้แก่ การแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาหรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ชัดเจนต่อการปรับเพิ่มค่าแรงงาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวหากยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--