สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 14:43 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2555 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ การปรับตัวของอุปสงค์ อุปทานในตลาด เป็นผลมาจากการเมืองของประเทศผู้ผลิตหลักในตะวันออกกลางเป็นสำคัญ

การผลิต

ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย มีการก่อสร้างโรงงานผลิตอีพิคลอโรไฮดรินด้วยเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลีเซอรีนธรรมชาติที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการผลิตไบโอดีเซลและออลิโอเคมีจากน้ำมันพืชแบบหมุนเวียน ขนาดกำลังการผลิต 100,000 ตัน/ปี โดยอีพิคลอโรไฮดรินเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตเรซินอิพอกซี (โพลิเมอร์พลาสติกสำหรับงานขึ้นรูป) คาดว่าจะเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปี 2557

นอกจากนี้ มีแผนร่วมลงทุนกับผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสร้างโรงงานผลิต ethylidene norbornene (EBN) ในประเทศไทย กำลังการผลิต 20,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2559 ซึ่ง EBN เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับผลิต ethylene propylene diene Monomer (EPDM) มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นยางสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติทนความร้อนและสภาพอากาศได้ดี ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 73,340.27 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 17.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.12 ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลาง และขั้นปลาย มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 22.43 และ 28.46 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2554 ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยโดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำ รวมทั้งปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป ประกอบกับการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น ประเทศจีนและเวียดนามมีแผนการขยายกำลังการผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2556-2560และบางแห่งเริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิต ส่งผลให้ตลาดมีความตึงตัวและลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทย

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 287,101.75 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 23.01 เมื่อเทียบกับปี 2554

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 30,490.52 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 21.67เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 63.04 23.96 และ 8.02 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2554 คาดว่าเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมปลายทางในประเทศเกิดการชะลอตัวลง ทำให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลง

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม 120,272.14 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 26.80 เมื่อเทียบกับปี 2554

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียไตรมาส 4 ปี 2555 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 38.80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2555 ที่ราคาเฉลี่ย 36.28 บาทต่อกิโลกรัม และราคาโพรพิลีนไตรมาส 4 ปี 2555 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 39.40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาส 3 ปี 2555 ที่ราคาเฉลี่ย 38.75 บาทต่อกิโลกรัม

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) ของ LDPE, HDPE,และ PP ไตรมาส 4 ปี 2555 ระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 42.51, 42.94 และ 46.70 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับทั้งนี้ LDPE และ HDPE และ PP มีระดับราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2555 ที่ระดับราคาเฉลี่ย 42.00, 42.32 และ 45.82 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ลดลงโดยมีปัจจัยมาจากการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยมีการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศต่างๆ แผนการขยายกำลังการผลิตเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้า ส่งผลให้การนำเข้าจากไทยลดลง

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 4 ปี 2555 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงซึ่งเป็นผลมาจากการที่อุตสาหกรรมปลายทางในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้ม

การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในปี 2555 อัตราการขยายตัวลดลง เมื่อเทียบกับปี 2554 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำตามไปด้วย

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2556 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในปี 2556 รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า การลงทุนแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวรวมถึงการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศใช้นโยบายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (มาตรการ QE3) ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ