สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมเซรามิก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 15:07 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์เซรามิกในประเทศลดลงตามกำลังซื้อของลูกค้าที่ชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไป ในขณะที่ตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

การผลิต

การผลิตเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 39.31 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.59 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 10.58 และ 10.67 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามปกติที่การผลิตจะลดต่ำลงในช่วงไตรมาส 4 ของปีเนื่องจาก ในช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่มียอดขายต่ำสุด สำหรับการผลิตเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก เป็นการเปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดน้ำท่วมหนัก โดยกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.47 และ 18.66 ตามลำดับ (ดังตาราง ที่ 1)

การผลิตเซรามิก ปี 2555 เติบโตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่ในปีนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเหมือนปีที่ผ่านมาจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 172.72 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 6.70 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79และ 0.60 ตามลำดับ

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 44.29 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 0.96 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.36 และ 8.57 ตามลำดับ ซึ่งการจำหน่ายไม่สามารถขยายตัวได้ เนื่องจากต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้านำเข้าจากจีนและเวียดนาม นอกจากนี้ มาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกยังส่งผลให้กำลังซื้อของลูกค้าที่จะปรับปรุงซ่อมแซมบ้านลดลง สำหรับการจำหน่ายเซรามิก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก เป็นการเปรียบเทียบกับช่วงที่เกิดน้ำท่วมหนัก โดยกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.20 และ 29.73ตามลำดับ (ดังตารางที่ 2)

การจำหน่ายเซรามิก ปี 2555 เติบโตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการผลิต โดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 187.09 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 4.18 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.90 และ 10.00 ตามลำดับ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย เยอรมนี และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 176.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.73 และ 1.74 ตามลำดับ ซึ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลงในตลาดหลักที่สำคัญทั้ง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกลดลงเป็นสำคัญ ได้แก่ ของชำร่วยเครื่องประดับ และลูกถ้วยไฟฟ้า (ดังตารางที่ 3)การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2555 มีมูลค่ารวม 776.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.77 ซึ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ และสามารถขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน ยกเว้น ของชำร่วยเครื่องประดับ ที่การส่งออกลดลงในตลาดหลักทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และเยอรมนี โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 125.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.75 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.16 (ดังตารางที่ 4) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2555 มีมูลค่ารวม 497.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.67 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง จากจีน และเวียดนาม และอิฐทนไฟ จาก จีน และเยอรมนี เป็นสำคัญ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการปรับราคาก๊าซ LPG ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงสุดตามเพดานที่กำหนด คือ 30.13 บาทต่อกิโลกรัม และนโยบายการปรับค่าแรงงาน 300 บาทต่อวันที่เริ่มบังคับใช้ทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 จะส่งผลให้ภาระต้นทุนการผลิตเซรามิกเพิ่มขึ้น และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเซรามิกลดลง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ลดลงตามตลาดที่ลูกค้าชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไป ในขณะเดียวกันยังต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้านำเข้า สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 ลดลงจากการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 ลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดในประเทศ

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูกาลขาย อย่างไรก็ตาม ลูกค้าที่ใช้สิทธิ์จากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก อาจชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไปอีกระยะหนึ่ง จึงทำให้การขยายตัวของตลาดเซรามิกที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาจไม่สูงมากนัก สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดในประเทศเป็นสำคัญ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ