สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 15:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงเล็กน้อ้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผ้ผลิตปรับลดปริมาณการผลิตลงเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกปรับตัวลดลงตาม สำหรับไตรมาสที่1 ปี 2556 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ทั้งในประเทศและในตลาดส่งออกหลักของไทยจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูการก่อสร้าง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จึงน่าจะยังขยายตัวได้

การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.81 ล้านตันและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.22 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 6.03 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.64 สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.94 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.57 ทั้งนี้ สาเหตุที่การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่บางรายได้หยุดพักเครื่องจักรบางส่วนเพื่อซ่อมบำรุง สำหรับสาเหตุของการผลิตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ ฐานการผลิตในปี 2554 ค่อนข้างต่ำเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัย ประกอบกับมีการขยายการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และวัสดุทดแทนไม้ ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 8.77 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.25 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.52 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 1.24 เนื่องจากฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าช้ากว่าปีก่อน ทำให้ขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้าง ส่งผลให้การก่อสร้างในโครงการต่างๆต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.17

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีปริมาณการส่งออกรวม 2.62 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 135.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.08 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 45.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 24.48 และ ร้อยละ 24.70 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 15.63 และ ร้อยละ 8.70 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.54 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 89.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 19.79 และ ร้อยละ 17.60 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.46 และร้อยละ 22.13 ตามลำดับ ทั้งนี้ สาเหตุที่ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือ ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ปรับลดปริมาณการผลิตลงเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักร ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงตาม สำหรับสาเหตุที่ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือเมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และโตโก ตามลำดับฃ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีปริมาณรวม 3,224.36 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 26.25 และ ร้อยละ 31.95 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่านำเข้ารวม ลดลงร้อยละ 25.08 และ ร้อยละ 33.91 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 49.72 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.04 ล้านเหรียญสหรัฐ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 3,174.64 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมา คือ เนเธอแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตามลำดับ

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรเนื่องมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นเมื่อกลางปี 2555 รวมถึงต้นทุนการขนส่งและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนหลักในการผลิตปูนซีเมนต์มาจากการใช้เชื้อเพลิง (ถ่านหิน) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 35 ของต้นทุนการผลิตโดยรวม รองลงมาคือการใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิตโดยรวม ส่วนที่เหลือมาจากค่าแรงร้อยละ 15 ค่าวัตถุดิบและซ่อมบำรุงอีกร้อยละ 20

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี2555 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ในภาพรวมทั้งปี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 (2555-2564) เป็นระยะพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืน เพื่อกระจายผู้โดยสารในเมืองอย่างทั่วถึง และโครงการขยายเส้นทางจราจรทางหลวงหมายเลขต่างๆ เพื่อสนับสนุนระบบการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างให้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และประหยัดเวลาการเดินทาง

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ลดลง เนื่องมาจากปริมาณการผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ที่ลดลง และการสำรองไว้ใช้ในประเทศ ตามแนวโน้มความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงขึ้น

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามพื้นที่บริเวณโครงการรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาส 1 ปี 2556 คาดว่ายังคงขยายตัวได้เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เมียนมาร์ และลาว มีการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของกัมพูชาที่ชะลอตัวลง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร ฯลฯ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยบ้าง แต่ไม่มากนัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ