สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 15:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลง จากต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อ้อย โดยเฉพาะจากการส่งออกไปตลาดรองที่ยังขยายตัวได้ด้ดี

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีปริมาณ 2.13 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 1) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 10.13 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 การผลิตที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบ และโดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิต สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2555 มีปริมาณ8.92 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 1) เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีปริมาณ 1.12 ล้านชิ้น(ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.61 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.74 การจำหน่ายที่ลดลง เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังการใช้จ่าย สำหรับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในปี 2555 มีปริมาณ 4.55 ล้านชิ้น (ดังตารางที่ 2) เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.44

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 755.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.96 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.64 (ดังตารางที่ 3) การส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ยังขยายตัวได้เล็กน้อย และการส่งออกไปตลาดรอง เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแถบเอเซียใต้ และตะวันออกกลาง ยังขยายตัวได้ดี สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ปี 2555 มีมูลค่ารวม 2,976.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.79 (ดังตารางที่ 3)

สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

ประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 33 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้

การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 262.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.35และ 7.63 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ในปี 2555 มีมูลค่ารวม 978.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.07

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นสวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ รูปแกะสลักไม้ และเครื่องใช้ทำด้วยไม้

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 57.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.99 และ 1.79 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ในปี 2555 มีมูลค่ารวม 221.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.27

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด(Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีนญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 435.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ1.26 และ 6.46 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ในปี 2555 มีมูลค่ารวม1,776.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.04

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูปไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ มาเลเซีย และนิวซีแลนด์

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2555 มีมูลค่ารวม 175.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27และ 9.56 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในปี 2555 มีมูลค่ารวม 693.75ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.45 (ดังตารางที่ 4)

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการปรับค่าแรงงาน 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ที่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น นอกจากนี้ การออกกฎระเบียบข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของสหภาพยุโรปจากมาตรการ FLEGT EU ที่ต้องแสดงแหล่งที่มาของไม้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 มีนาคม 2556 จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกไม้และเครื่องเรือนของไทยไปยังสหภาพยุโรป

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2555 ลดลงจากต้นทุนการผลิต ทั้งวัตถุดิบ และโดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิต และการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2555 ลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังการใช้จ่าย

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2555 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ยังขยายตัวได้เล็กน้อยและการส่งออกไปตลาดรอง เช่น ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแถบเอเซียใต้ และตะวันออกกลาง ยังขยายตัวได้ดี ส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2555 เพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มทรงตัว จากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการปรับค่าแรงงาน 300 บาทต่อวันทั่วประเทศและการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2556 ก็มีแนวโน้มทรงตัว จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก คือ การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจทำให้ความต้องการเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้น

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มทรงตัวเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ยังเปราะบาง และมีปัจจัยเสี่ยงของเงินบาทที่แข็งค่า อย่างไรก็ตาม ตลาดใหม่ของไทยที่มีกำลังซื้อสูงเช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในกลุ่มอาเซียน ยังขยายตัวได้ดี สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 1 ปี 2556 มีแนวโน้มทรงตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ