สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 28, 2013 15:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมการผลิตยาในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์อยู่ในภาวะปกติเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีก่อนที่เกิดปัญหามหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลให้การผลิต การจำหน่าย และการส่งออกขยายตัว

การผลิต

ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 การผลิตยาในประเทศมีปริมาณ 6,978.14 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.97 เนื่องจากในไตรมาสนี้ไม่เกิดปัญหามหาอุทกภัยในหลายพื้นที่เช่นช่วงปลายปีก่อน ซึ่งทำให้หลายโรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการ หรือต้องหยุดผลิตชั่วคราว นอกจากนี้สถานการณ์ดังกล่าว ยังทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อทำการผลิตได้ เพราะเส้นทางคมนาคมถูกน้ำท่วม ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงมากในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 1.98 เนื่องจากมีการผลิตไปมากแล้วในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี

สำหรับในปี 2555 มีปริมาณการผลิต 30,155.02 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 5.10เนื่องจากผู้ผลิตเร่งทำการผลิต หลังจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลายลง นอกจากนี้ผู้ผลิตยังทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่ เพื่อทดแทนยาซึ่งเคยมีความต้องการสูงแต่ถูกจำกัดการจำหน่าย และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง จากการที่ประชาชนเพิ่มความใส่ใจกับการดูแลสุขภาพและมีพฤติกรรมการซื้อยาใช้เองมากขึ้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีปริมาณ 6,628.85 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปกี อน ร้อยละ 0.82 เนื่องจากในช่วงนี้ไม่ประสบปัญหาเสน้ ทางคมนาคมถูกน้ำทว่ มซึ่งทำให้โรงงานบางส่วนไม่สามารถจัดส่งและกระจายสินค้าได้ รวมทั้งช่องทางการจำหน่ายของผู้ผลิต คือ โรงพยาบาลและร้านขายยา ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเช่นกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลอดจนโรงงานไม่ต้องเตรียมสินค้าเพื่อรองรับการรับคืนยาที่เสียหายด้วย ปริมาณการจำหน่ายยาจึงขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 4.97 เนื่องจากสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลัก ได้เร่งการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในช่วงไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นปลายปีงบประมาณ

สำหรับปริมาณการจำหน่ายในปี 2555 มีปริมาณ 26,782.78 ตัน ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 6.59 เนื่องจากในปีนี้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนทุกสูตรอย่างเข้มงวด โดยกำหนดให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เพราะสามารถนำไปผลิตเป็นยาเสพติดได้ ทำให้ยาเม็ดและยาน้ำที่มีสูตรผสมของสารดังกล่าว ถูกจำกัดการจำหน่าย โดยยานี้มีได้เฉพาะในโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนที่มีใบอนุญาตเท่านั้น พร้อมทั้งให้ร้านขายยาคืนยากับผู้ผลิต ตลอดจนจำกัดการนำเข้ายาประเภทนี้จากต่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่า 2,170.84 ล้านบาทขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 37.29 เนื่องจากในช่วงปลายปีก่อน เหตุการณ์อุทกภัยทำให้ความต้องการภายในประเทศมีจำนวนมาก ประกอบกับผู้ผลิตต้องเตรียมยาไว้เพื่อรับเปลี่ยนกับสินค้าที่ได้รับความเสียหายจากโรงพยาบาลและร้านขายยาที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย ทำให้การส่งออกในช่วงปลายปกี อนลดลง โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนามเมียนมาร์ กัมพูชา ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ มีมูลค่าการสง่ ออกรวม 1,430.84 ล้านบาท หรือร้อยละ 65.91 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับในปี 2555 การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 7,860.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.82 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์กัมพูชา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย มีมูลค่าการสง่ ออกรวม 5,340.45 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.94 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทย คือ อาเซียนแต่มีข้อสังเกตว่าการส่งออกไปญี่ปุ่นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีบริษัทจากญี่ปุ่นมาลงทุนผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อใช้โรงงานที่ร่วมทุนกับผู้ผลิตในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยา และส่งออกไปยังประเทศดังกล่าว นอกจากนี้การขยายตัวของการส่งออก ยังมีผลมาจากการที่ผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ รวมทั้งผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยมีความพร้อมและได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปว่าจ้างผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อเตรียมรองรับการขยายตลาดใน AEC ในอนาคต

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 11.56 เนื่องจากผู้สั่งซื้อ มักจะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 มีมูลค่า 11,358.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 8.13 และ 0.56 ตามลำดับโดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอินเดีย มีมูลค่าการนำเข้ารวม 4,415.57 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.88 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในปี 2555 มีมูลค่า 45,292.87 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.15 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร มูลค่าการนำเข้ารวม19,436.65 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.91 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

จากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยช่วงปลายปี 2554 ทำให้ผู้ผลิตยาได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้ยาหลายประเภทผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่แม้ผู้ผลิตบางรายได้ฟื้นตัวและกลับมาเร่งการผลิตแล้ว แต่มีผู้ผลิตบางรายยังฟื้นฟูไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระบบมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ ทำให้การนำเข้ายาจากต่างประเทศในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งต่างจากในช่วง 2553-2554 ที่การนำเข้ายามีอัตราการเติบโตไม่สูงนัก (ขยายตัวร้อยละ 2.93 และ 4.08 ตามลำดับ) เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของข้าราชการ ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าต้องปรับลดราคายา และให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่ายผ่านโรงพยาบาลเอกชน และร้านขายยาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ร้านขายยาในรูปแบบแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีความสนใจจะเข้ามาเปิดร้านในประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายยาจากประเทศของตนในอนาคต

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ปริมาณการผลิตและการจำหน่าย ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไม่ได้เกิดปัญหามหาอุทกภัยเช่นปลายปีก่อน ที่ทำให้ต้องหยุดหรือชะลอการผลิต รวมทั้งไม่สามารถกระจายสินค้าได้ให้เพียงพอกับความต้องการ สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีก่อนส่งออกได้ไม่มากนัก เพราะความต้องการในประเทศสูงและผู้ผลิตต้องเตรียมยาไว้เพื่อรับเปลี่ยนกับสินค้าที่ได้รับความเสียหายจากลูกค้าที่ประสบอุทกภัยในส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่เติบโตในในอัตราที่ลดลง เนื่องจากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 คาดว่า ปริมาณการผลิตจะลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพราะในช่วงปลายปีผู้ผลิตมีสินค้าคงคลังอยู่ปริมาณมาก จึงต้องการระบายสินค้าที่มีอยู่ก่อนเนื่องจากยามีอายุการใช้งาน และคาดว่าการส่งออกจะมีมูลค่าลดลงเช่นกัน จากการที่ผู้สั่งซื้อยังมีสินค้าจากปีก่อนเหลืออยู่ สำหรับปริมาณการจำหน่ายในประเทศและมูลค่าการนำเข้า มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากสถานพยาบาลภาครัฐซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ได้เร่งใช้จ่ายงบประมาณในช่วงปลายปีงบประมาณไปแล้ว โดยสถานการณ์อุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามวัฏจักรธุรกิจ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโดยภาพรวมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสแรกของปี แต่ยังเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจดูแลสุขภาพ และผู้ผลิตหลายรายเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์มากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับจากผู้บริโภคว่ายาชื่อสามัญที่ผลิตได้ในประเทศมีคุณภาพและมาตรฐานใกล้เคียงกับยาชื่อสามัญที่นำเข้าจากต่างประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ