สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาส 4 ปี 2555 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 1, 2013 13:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ด้านการผลิตลดลงร้อยละ 2.79 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในส่วนการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 56.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณีลดลงร้อยละ 10.48 เครื่องประดับแท้ลดลงร้อยละ 6.20 อัญมณีสังเคราะห์ลดลงร้อยละ 12.46 และโลหะมีค่าและของที่หุ่มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 11.60 นอกจากนี้การส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปลดลงเช่นกันร้อยละ 81.12 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสนี้ลดลง

การผลิตและการจำหน่าย

การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 1) ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 2.79 สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ชะลอตัว ในส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.43 เนื่องจากการส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อที่ได้รับจากไตรมาสที่แล้ว ประกอบกับมีการส่งเสริมกลยุทธ์ทางการจำหน่ายผ่านงาน Wedding Fair และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 0.16 และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตและดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงเช่นกันร้อยละ 5.85 และ 1.31 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.15

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 (ตารางที่ 2) ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,216.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 56.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 8.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกอัญมณี ได้แก่ เพชร พลอยและไข่มุก มีมูลค่า 484.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.48 เครื่องประดับแท้มีมูลค่า 939.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.20 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลง นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปซึ่งมีมูลค่า 642.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงสูงถึงร้อยละ 81.12 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำในตลาดโลกที่อยู่ในแนวโน้มขาลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ มีดังนี้

1. อัญมณี ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 484.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.10 19.97 และ 13.52 ตามลำดับ ซึ่งอัญมณีที่สำคัญ ได้แก่

1.1 เพชร ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 366.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยี่ยม และอิสราเอล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.86 26.38 และ 12.13 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 116.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 32.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.85 18.20 และ 10.25 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 939.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.20 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.96เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญ ได้แก่

2.1 ทำด้วยเงิน ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 410.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.01 21.34 และ 6.73 ตามลำดับ

2.2 ทำด้วยทอง ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 487.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.36 17.66 และ 12.06 ตามลำดับ

3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 97.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ลิกเตนสไตน์สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.79 21.16 และ 10.08 ตามลำดับ

4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 24.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.46 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 27.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.80 13.78 และ 13.58 ตามลำดับ

5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการสง่ ออก 642.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 81.12 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 36.62เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดียและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.48 4.25 และ 3.41 ตามลำดับ

การนำเข้า

1. เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 (ตารางที่ 3) มีมูลค่าการนำเข้า 3,480.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ทองคำยังไม่ขึ้นรูปของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมูลค่าการนำเข้าลดลงสูงถึงร้อยละ 43.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำโดยเฉลี่ยของไตรมาสที่ 4 ปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอย่างมาก โดยเป็นการนำเข้าเพชรพลอย ทองคำ เงิน โลหะมีค่า และโลหะอื่น ๆ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.98 ของการนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบสำคัญ ๆ มีรายละเอียด ดังนี้

1.1 เพชร ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 201.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 15.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 45.04 เนื่องจากราคาเพชรที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากทำให้การจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำด้วยเพชรเป็นส่วนประกอบลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ อินเดีย ฮ่องกง และเบลเยี่ยม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.77 11.67 และ 11.51 ตามลำดับ

1.2 พลอย ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 49.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 45.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย และเมียนมาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.20 14.06 และ 3.51 ตามลำดับ

1.3 ทองคำ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 2,978.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 133.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 45.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.83 15.88 และ 11.71 ตามลำดับ

1.4 เงิน ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 191.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.01 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 21.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.35 24.05 และ 17.65 ตามลำดับ

1.5 โลหะมีค่า และโลหะอื่นๆ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 24.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 7.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.82 19.99 และ 12.61 ตามลำดับ

2. เครื่องประดับอัญมณี ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าทั้งสิ้น 143.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 42.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 9.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคลดลงจากการลงทุนในทรัพย์สินอื่น เช่น บ้าน และรถยนต์ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่

2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 131.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 44.15 เนื่องจากช่วงไตรมาสก่อนได้มีการเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลช่วงปลายปีไปแล้ว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 11.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.21 5.41 และ 2.79 ตามลำดับ

2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้า 11.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.14เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.95 15.29 และ 6.67 ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ด้านการผลิตลดลงร้อยละ 2.79 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในส่วนการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 56.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี ลดลงร้อยละ 10.48 เครื่องประดับแท้ลดลงร้อยละ 6.20 อัญมณีสังเคราะห์ลดลงร้อยละ 12.46 และโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 11.60 นอกจากนี้การส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปลดลงเช่นกันร้อยละ 81.12 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสนี้ลดลง โดยในภาพรวมการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปในไตรมาสนี้มีมูลค่าน้อยกว่าการนำเข้า เนื่องจากราคาทองคำโดยเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าด้านการนำเข้าในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.79 เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูป เพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 133.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

แนวโน้ม

แนวโน้มภาพรวมการผลิตและการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 คาดว่า จะมีปัจจัยบวก คือ ความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มพิจารณาการซื้อเพชร และทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย ประกอบกับตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นยังมีการเติบโตที่ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว ได้แก่ การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งคาดว่าปัจจัยบวกและปัจจัยลบจะส่งผลใกล้เคียงกัน ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ