นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกกฎระเบียบ REGLATION (EU) No 1213/2012 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2557 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยสหภาพยุโรปได้ตัดสิทธิกลุ่มสินค้าบางรายการจากประเทศต่างๆ 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน คอสตาริกา เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และยูเครน โดยจีนจะถูกตัดสิทธิเกือบทุกกลุ่มสินค้า ซึ่งหลักเกณฑ์การตัดสิทธิ GSP เป็นกลุ่มสินค้า ตามโครงการ GSP ใหม่ จะพิจารณาจากการนำเข้าสินค้าในหมวดนั้นจากประเทศผู้รับสิทธิ เฉลี่ย 3 ปีติดต่อกันเกิน ร้อยละ 17.5 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดในหมวดนั้นๆ จากทุกประเทศผู้รับสิทธิ ยกเว้น สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะถูกตัดสิทธิเมื่อมูลค่าการนำเข้าเกิน ร้อยละ 14.5 ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย ถูกตัดสิทธิใน 3 กลุ่มสินค้า ดังต่อไปนี้
1. Section 4a ได้แก่ ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลา หรือสัตว์จำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ หรือสัตว์น้ำไร้กระดูก สันหลัง สินค้าที่สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และสินค้าประมงแปรรูป อาทิ ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งแปรรูป หรือเป็นสินค้าในพิกัด HS 16
2. Section 4b ได้แก่ (ก) น้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล (ข) โกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ (ค) ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง สตาร์ช นม ผลิตภัณฑ์อาหารจำพวกเพสทรี (ง) ของปรุงแต่งจากพืชผัก ผลไม้ ลูกนัต หรือจากส่วนอื่นของพืช (จ) ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ (ฉ) เครื่องดื่ม สุรา น้ำส้มสายชู (ช) กากและเศษที่เหลือจากอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และอาหารสัตว์ สินค้าที่สำคัญ เช่น อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ หรือเป็นสินค้าในพิกัด HS 17-23
3. Section 14 ได้แก่ ไข่มุกธรรมชาติหรือเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มด้วยโลหะมีค่า เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์ หรือเป็นสินค้าในพิกัด HS 71
ทั้งนี้ ประเทศเอกวาดอร์ถูกตัดสิทธิใน Section 4a และประเทศจีนถูกตัดสิทธิใน Section 4b และ Section 14 ตามระเบียบดังกล่าวเช่นกัน
นายหทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การถูกตัดสิทธิ GSP ใน Section 4a และ Section 4b ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้สินค้าของไทยต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ในขณะที่คู่แข่งที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกันหรือสูงกว่ายังได้รับสิทธิ GSP อยู่ เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ใน Section 4a หรือ ไนจีเรีย เปรู อินโดนีเซีย และอินเดีย ใน Section 4b ทำให้สินค้าส่งออกไทยต้องประสบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าอาจสั่งซื้อจากประเทศคู่แข่งที่ยังได้รับสิทธิ GSP แทนการสั่งซื้อสินค้าจากไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในสินค้าอาหารกลุ่มอื่นๆ ที่มีการใช้สิทธิสูงแต่ประเทศอื่นถูกตัดสิทธิ ได้แก่ กุ้ง/ปลาหมึกแช่เย็นแช่แข็ง (HS 0306 และ 0307) และน้ำมันปาล์มดิบ (HS 1511) เนื่องจากจีน ถูกตัดสิทธิ GSP ใน Section 1b (HS 03) และอินโดนีเซีย ถูกตัดสิทธิ GSP ใน Section 3 (HS 15)
นอกจากนี้ นายหทัย ยังมีความเห็นต่อการลดผลกระทบจากโครงการ GSP ใหม่ว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับตลาดอื่น เช่น จีน เกาหลีใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศอาเซียน มากขึ้น แต่หากผู้ประกอบการยังต้องพึ่งพิงตลาดสหภาพยุโรปเป็นหลัก ควรพิจารณาการลงทุนเพิ่มในประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP เพิ่มเติม เพื่อลดต้นทุนการส่งออก อย่างไรก็ตาม สิทธิ GSP เป็นสิทธิที่ไม่คงอยู่ตลอดไป เนื่องจากถ้าประเทศไทยมีระดับรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) ในปี 2555 อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income) ตามเกณฑ์ที่ธนาคารโลกกำหนด จะทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเมื่อถึงปี 2557 ตามหลักเกณฑ์การตัดสิทธิ GSP คาดว่าประเทศไทยอาจถูกตัดสิทธิทั้งประเทศ โดยจะต้องเสียภาษีศุลกากรในอัตราปกติสำหรับทุกรายการสินค้าตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งตามเกณฑ์ดังกล่าว ประเทศจีนอาจถูกตัดสิทธิด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการควรพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และมีมูลค่าเพิ่มสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยไม่ต้องพึ่งพาสิทธิ GSP ตลอดไป และแม้การเจรจาเปิดการค้าเสรีไทยยุโรป ซึ่งภาครัฐเร่งดำเนินการอยู่นั้น หากประสบผลสำเร็จ ในด้านหนึ่งอาจทำให้ได้อัตราภาษีสินค้าต่ำกว่าอัตรา GSP ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการถูกตัด GSP อย่างถาวร แต่ในการดำเนินการเจรจากรอบดังกล่าว ต้องประเมินผลกระทบรอบด้าน เนื่องจากมีข้อกังวลว่าประเทศไทยอาจต้องเสียเปรียบ เช่น ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกินกว่าที่ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในหลายสาขาที่ยังไม่พร้อมจะแข่งขัน เป็นต้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--