ดร. ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าในฐานะที่ สศอ. มีหน้าที่โดยตรงในการเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย จึงได้ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนาเว็บไซต์ด้านการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้ผลิตภัณฑ์สับปะรด ดำเนินงานภายใต้ “โครงการศึกษาแนวทางการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สับปะรด” ประจำปีงบประมาณ 2555 โดยนำผลการศึกษาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสับปะรด อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง นักลงทุน และผู้สนใจทั่วไป สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเป็นแนวทางในการลงทุนเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตภัณฑ์คุณค่าเพิ่มจากสับปะรด โดยมีข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สับปะรดแปรรูปบรรจุภาชนะปิดสนิท (บรรจุถ้วยพลาสติก) น้ำส้มสายชูหมักจากสับปะรด สารให้ความคงตัวจากสับปะรด (Pineapple Stabilizer) และเอนไซม์โบรมีเลน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้านโครงสร้างอุตสาหกรรมสับปะรดที่จะทำให้ทราบถึงสภาวะอุตสาหกรรมสับปะรดทั้งที่เป็นอาหารและมิใช่อาหาร ห่วงโซ่คุณค่าสับปะรด (Value Chain) เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตผลิตภัณฑ์สับปะรด รวมทั้งเจาะลึกข้อมูลแนวโน้มตลาดผลิตภัณฑ์สับปะรดในตลาดโลก
นอกจากนี้ ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจบการศึกษาวิจัยโครงการฯ ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการโดยการนำข้อมูลไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณค่าเพิ่ม ซึ่งหากมีการกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการลงทุนในเชิงพาณิชย์สำหรับ 4 ผลิตภัณฑ์ตามที่ได้ทำการศึกษา จะสามารถสร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาทต่อปี ในเบื้องต้นมีผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์ที่จะผลิตสินค้าออกสู่ตลาด ได้แก่ สารให้ความคงตัวจากสับปะรด จำนวน 1 ราย และเอนไซม์โบรมีเลน จำนวน 1 ราย นับเป็นสัญญาณที่ดีในการยกระดับการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมสับปะรดของไทย เนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อองค์ความรู้ที่ตรงกับความต้องการกับสภาพการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอย่างแท้จริง และยังเป็นแนวทางสำคัญในการรองรับปริมาณผลผลิตสับปะรดจากไร่เกษตรกรทั้งในส่วนของสับปะรดผลสดและลำต้นสับปะรดไม่น้อยกว่า 16,300 ตัน/ปี อย่างไรก็ตาม จะต้องอาศัยการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์คุณค่าเพิ่ม 4 ผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น โดยมีแนวทางสำคัญประกอบด้วย 1) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสามารถนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ 2) การสนับสนุนการขยายช่องทางการนำผลิตภัณฑ์จากสับปะรดไปใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้า และการขยายผลิตภัณฑ์เข้าสู่ร้านค้าระดับพรีเมี่ยม 3) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ผู้บริโภคในประเทศถึงคุณประโยชน์ของสับปะรด 4) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์สับปะรด และ 5) การจัดให้มีแหล่งเรียนรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สับปะรดในระดับชุมชน และระดับอุตสาหกรรม ดังนั้น เว็บไซต์ด้านการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้ผลิตภัณฑ์สับปะรด จึงเป็นแหล่งข้อมูลองค์ความรู้ที่จะจุดประกายความคิดให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้สนใจทั่วไป ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าและ นำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ โดยรายละเอียดการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สับปะรด ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.oie.go.th/VC-pineapple
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--