สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนม.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 19, 2013 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเผยภาคการผลิตเดินเครื่องรับปีใหม่ หนุนดัชนีอุตฯ เดือน ม.ค. ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 28.2

ดร.ณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 10.1 ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/55 ขยายตัวร้อยละ 37.4 เร่งตัวขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้าทำให้ปี 2555 GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 7.0 ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 36.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 37.4 และด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในเดือนม.ค. 2556 ขยายตัวร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 28.2

ด้านอุตสาหกรรมการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 40.3 เป็นแรงสนับสนุนสำคัญของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทย ขณะที่การส่งออกเครื่องอิเล็คทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 29.8 และ 20.5 ตามลำดับ ด้านตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ในดือนม.ค.2556 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยไปยังตลาดอาเซียน จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวในทุกตลาด ส่วนอัตราการว่างงานล่าสุด ข้อมูลเดือน ธ.ค.2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งอัตราการว่างงานของไทยมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด โดยช่วงปี 2554 — ปัจจุบัน อัตราการว่างงานต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งสะท้อนปัญหาแรงงานตึงตัว หรือการขาดแคลนแรงงาน ด้านสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 3 สัปดาห์แรกของปี 2556 หลังจากนั้นค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัวโดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.70—29.90 บาท/เหรียญฯ สถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.12 ในขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียค่าเงินปรับตัวอ่อนค่าลง รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงถึงร้อยละ 6.93 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางญี่ปุ่น ปี 2013 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าปี 2012 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยมีกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรม ไตรมาสที่1/56 และปี 2556 ปัจจัยที่ส่งผลบวก คือ ฐานการคำนวณที่ต่ำในไตรมาสที่ 1/55 การส่งออกมีบทบาทในการขับเคลื่อนมากขึ้นจากประเทศเศรษฐกิจใหม่ ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรม ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักจากวิกฤตเศรษฐกิจ (EU สหรัฐ และญี่ปุ่น) การแข็งค่าของเงินบาท ค่าแรง 300 บาท และยังมี อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ ม.ค 2556 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/ 2556 ที่น่าสนใจได้แก่

อุตสาหกรรมรถยนต์ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ เดือน มกราคม 2556 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์เร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อการส่งมอบให้ลูกค้า โดยการผลิตรถยนต์มีจำนวน 236,025 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 68.10 สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาส 1 ปี 2556 คาดว่า จะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์เร่งการผลิตเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าและคาดว่าจะมีการผลิตเพื่อส่งมอบลูกค้าจากโครงการรถยนต์คันแรกที่ยังค้างส่งมอบอีก 231,000 คันในไตรมาศที่ 1/2556

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กเดือนมกราคม 2556 ปริมาณการผลิตเหล็ก ขยายตัวขึ้นร้อยละ 8 ในขณะที่ปริมาณการบริโภค 1.44 ล้านตัน ขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 8 เป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างซึ่งขยายตัวจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการรถคันแรกของภาครัฐเช่นเดียวกัน แนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ปริมาณการผลิต ขยายตัวขึ้นร้อยละ 8 ในขณะที่ปริมาณการบริโภคขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 6 เป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างทั้งโครงการของภาครัฐซึ่งยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามเส้นทางรถไฟฟ้าก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิต เดือนมกราคม 2556 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยรวมร้อยละ 4.43 เนื่องจากฐานการผลิตในเดือนมกราคม 2555 อยู่ในระดับต่ำ อีกปัจจัยหนึ่งมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศทำให้การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน และในส่วนของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์การผลิตเริ่มกลับมาผลิตได้มากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวได้ร้อยละ 23.28 จากความต้องการในประเทศที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น และการลงทุนของภาคเอกชนที่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนมกราคม ปี 2556 การผลิตเส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืน เพิ่มขึ้นตามการบริโภคภาคประชาชนที่ยังมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นคำสั่งซื้อจากเอเซีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่น ในส่วนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเริ่มลดลงร้อยละ 1.24 ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อที่ลดลงจากกลุ่มสหภาพยุโรป แนวโน้มการผลิตไตรมาสที่ 1 ปี 2556 การผลิตเส้นใยฯ จะสามารถขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 12 และผ้าผืน จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียนประมาณ ร้อยละ 10 ในขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปอาจจะลดลงประมาณร้อยละ 5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาชะลอตัว

อุตสาหกรรมอาหาร สรุปภาวะการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารเดือนมกราคม 2556 การผลิตลดลงประมาณร้อยละ 5.4 การส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 18.1 แนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2556 การผลิตคาดว่าจะปรับตัวลดลง ประมาณร้อยละ 4.7 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรป จากปัญหาหนี้สาธารณะ แต่ผู้บริโภคยังมีกำลังซื้ออยู่ และปัญหาไม่น่าจะขยายตัวต่อไปยังตลาดนำเข้าอื่น ๆ มากนัก ประกอบกับสหรัฐอเมริกา ได้มีการปรับขึ้นเพดานหนี้ที่สามารถกู้เงินได้เพิ่มขึ้นจะเป็นการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออก ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 คาดว่า จะหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.1 เนื่องจากระดับราคาน้ำตาลทรายปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ