อก. ขับเคลื่อนธงนำอุตฯ วัสดุอุปกรณ์การแพทย์รอบใหม่ พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เตรียมพร้อมเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพใน AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 19, 2013 15:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม — สศอ. เดินหน้าอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อเนื่อง หลังประสบความสำเร็จสูงในปีที่ผ่านมา พัฒนาครบวงจรทั้งคลัสเตอร์ การวิจัยและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ โอกาสทางธุรกิจและการเพิ่ม Value Creation บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อผู้ประกอบการ SMEs ผนึกกำลังเตรียมพร้อมเป็นศูนย์กลางใน AEC

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานเปิดตัวโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ดูแลสุขภาพและการสัมมนาเรื่อง “โอกาสการพัฒนาสู่อนาคตของอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยที่ไม่ควรพลาด : Day of the Future for Medical & Healthcare Industry in Thailand” ว่าจากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย (Medical Hub) กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ และมีโอกาสที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการแข่งขันรองรับความต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงได้ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวภายใต้โครงการ FlagsShip ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้น เพื่อจัดทำกรอบการพัฒนาภายใต้วิสัยทัศน์ “ให้ไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่สำคัญในอาเซียนภายในปี 2563” ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1) การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ 2) การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศ 3) การตลาดและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ 4) การพัฒนาบุคลากรและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา 5) การใช้มาตรการการเงิน การคลัง และการจัดซื้อของภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทย และ 6) การสร้างความเชื่อมั่นและการส่งเสริมการลงทุน และได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์กับ 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แพทยสภา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย เพื่อบูรณาการเตรียมพร้อมรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และต่อยอดไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย (Medical Hub) ต่อไป” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

นายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ดูแลสุขภาพ เพราะเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต และประเทศไทยมีความพร้อมในหลายด้านโดยเฉพาะภูมิศาสตร์ที่ตั้งและบุคลากรที่มีฝีมือ จึงได้มอบให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ได้จัดทำขึ้นจำนวน 3 โครงการ ซึ่งผลการดำเนินการเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง โดยได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวงการแพทย์อย่างกว้างขวาง “กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นผลความสำเร็จของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในปี 2556 จึงได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อขยายผลสำเร็จจากการการดำเนินงานจากปีที่ผ่านมา โดยโครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพด้าน Productivity และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 ตั้งเป้าเพิ่ม Productivity ให้กับโรงงานผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มอีก 56 โรงงาน ตามเสียงเรียกร้องของผู้ประกอบการจำนวนมาก ส่วนโครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพตั้งเป้าจะดำเนินการวิจัย ออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล CE Mark อีกไม่ต่ำกว่า 13 ผลิตภัณฑ์ และจัดทำ Roadmap การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในอนาคต นอกจากนี้โครงการศึกษาวิจัยโอกาสทางธุรกิจและการเพิ่ม Value Creation สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จะจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึก (Intelligence Unit) ซึ่งประกอบด้วยฐานข้อมูลของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย แหล่งจำหน่ายสินค้า ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก ข้อมูลด้านมาตรฐาน ข้อมูลเทคโนโลยี และข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้ในการดำเนินธุรกิจ และเป็นข้อมูลสำหรับภาครัฐใช้ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม และจะจัดทำแนวทางการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพในเชิงเทคนิคและวิศวกรรม สำหรับแพทย์และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างได้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติทางเทคนิคขั้นพื้นฐาน (Basic Requirement) ที่จำเป็นด้านเทคนิคและวิศวกรรม นอกเหนือจากข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อใช้อ้างอิงในการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันสินค้าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีการกำหนดเกณฑ์การทดสอบและสามารถออกใบอนุญาตรับรองได้แล้วมีเพียง 10 รายการ เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากนั้นยังไม่ได้ควบคุมและไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้ ซึ่งการจัดทำคู่มือดังกล่าวจะทำให้ผู้ผลิตไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs มีโอกาสในการจำหน่ายสินค้ากับโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศมากขึ้น” รศอ. หทัยกล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ