สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2556 (มกราคม — มีนาคม 2556)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 23, 2013 17:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight
  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 262.17 ลดลงร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 4.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลง
ร้อยละ6.24 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.24
  • การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2556 มีมูลค่า 13,157.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ทำให้การส่งออกมีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน
  • ในไตรมาส 2/2556 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างทรงตัวโดยประมาณการว่าการผลิตจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 โดยมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่จะขยายตัวได้ร้อยละ 4 ซึ่งมาจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง

การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาสที่ 1/2556 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 262.17 ลดลงร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง 2.32 โดยมาจากลุ่ม HDD , Semiconductor devices Transistorขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.67 โดยมาจากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านประเภททำความเย็น เช่น เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น ซึ่งเป็นผลจากฤดูกาลและภาวะอากาศที่ค่อนข้างร้อนทำให้ตลาดมีความต้องการในไตรมาสนี้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 4.47 ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.24 โดยเป็นการลดลงเกือบทุกรายการสินค้า เนื่องจากความต้องการในตลาดอิเล็กทรอนิกส์เริ่มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตทำให้ความต้องการ HDD ลดลงไปด้วย ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.24 โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรับอากาศที่มีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหนึ่งมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศทำให้การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะจากภาวะการก่อสร้างทั้งของเอกชนในโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย (บ้าน คอนโดมิเนียม) และภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกที่สามารถขยายตัวได้เช่นกัน

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 1/2556 ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มข้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ยกเว้นเตาอบไมโครเวฟ และสายไฟฟ้า มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 19.68 และ12.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว

การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 1/2556 มีมูลค่า 13,157.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 โดยมาจากทั้งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1/2556 มีมูลค่า 5,613.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตลาดหลักที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สำหรับการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2556 มีมูลค่า 7,544.54 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากการส่งออกแผ่นวงจรพิมพ์ที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 42.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ทั้งนี้ตลาดหลักของอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน ส่วนจีนและญี่ปุ่นมีการปรับตัวลดลง

การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2556 มีมูลค่า 11,912.46ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4)

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1/2556 คิดเป็นมูลค่า 5,226.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2556 มีมูลค่า 6,985.60 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2555

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2556 อยู่ในภาวะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากความต้องการในตลาดอิเล็กทรอนิกส์เริ่มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอนอย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวดีขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 2/2556

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2556 คาดว่าการผลิตค่อนข้างทรงตัว โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4 ซึ่งมาจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ โดยเฉพาะใน กลุ่มเครื่องปรับอากาศที่ จะมีการขยายตัวได้มากถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ