อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างต่อเนื่องและภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยแนวสูงหรือคอนโดมิเนียม นอกจากนี้ การเพิ่มปริมาณการผลิตทั้งในปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ ยังส่งผลให้มีปริมาณการส่งออกสูงขึ้นอีด้วย สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2556 คาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ ทั้งในประเทศและในตลาดส่งออกหลักของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การผลิต
การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.74 ล้านตันและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.81 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 0.71 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.53 สำหรับการผลิต ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.77 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.84 ทั้งนี้ การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องมาจากการขยายการลงทุนทั้งของภาครัฐและ ภาคเอกชน โดยภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบขนส่ง และโครงการจัดการน้ำ ส่วนภาคเอกชนก็มีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม) บนพื้นที่บริเวณแนวรถไฟฟ้าและเขตหัวเมืองใหญ่
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 9.78 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.34 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.44 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.52 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.65 เนื่องจากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน รวมถึงไตรมาสแรกของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจึงเพิ่มขึ้นในช่วงนี้เป็นปกติอยู่แล้ว
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก
การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีปริมาณการส่งออกรวม 2.90 ล้านตันคิดเป็นมูลค่า 154.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 47.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 และ ร้อยละ 3.68 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 47.64 และ ร้อยละ 47.35 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.79 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 107.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.23 และ ร้อยละ 19.40 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 4.79 ในขณะที่มูลค่าการส่งออก ปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.83 ทั้งนี้ ปริมาณและมูลค่าการส่งออกทั้งปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้น ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่จึงต่างสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศทำให้ต้องลดปริมาณการส่งออกลง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ต่อปูนซีเมนต์ในตลาดหลักของไทยยังคงมีอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศของตนที่กำลัง เติบโตขึ้น โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ เมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชาบังคลาเทศ ลาว และโตโก ตามลำดับ
การนำเข้า
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีปริมาณรวม 4,348.57 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.87 และ ร้อยละ 20.00 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณและมูลค่านำเข้ารวมลดลงร้อยละ 5.57 และ ร้อยละ 26.60 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 24.09 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.01 ล้านเหรียญสหรัฐ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)จำนวน 4,324.49 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ อินเดีย รองลงมา คือ มาเลเซีย อียิปต์ จีน และญี่ปุ่น ตามลำดับ
ราคาสินค้า
ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรเนื่องมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นเมื่อกลางปี 2555 รวมถึงต้นทุนการขนส่งและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนหลักในการผลิตปูนซีเมนต์มาจากการใช้เชื้อเพลิง (ถ่านหิน) โดยมีสัดส่วนร้อยละ 35 ของ ต้นทุนการผลิตโดยรวม รองลงมาคือการใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของต้นทุนการผลิตโดยรวม ส่วนที่เหลือมาจากค่าแรงร้อยละ 15 ค่าวัตถุดิบและซ่อมบำรุงอีกร้อยละ 20 ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์บางรายได้ปรับราคาขายปูนซีเมนต์ขึ้นบ้างแล้วเป็นการชั่วคราว ตามต้นทุน ที่ปรับเพิ่มขึ้น
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สรุปและแนวโน้ม
สรุป
ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสแรกของปี 2556ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และในภาพรวมทั้งปี คาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่าง ต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนาระบบขนส่ง และโครงการจัดการน้ำปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้ม
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลให้การก่อสร้างในโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ต้องชะลอตัวลง
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาส 2 ปี 2556 คาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนรายใหญ่หลายรายมีนโยบายลดการส่งออกลงเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศต่อไป นอกจากนี้ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร ฯลฯ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยบ้างเช่นกัน แต่ไม่มากนัก
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--