แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ปัจจัยบวกมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน สำหรับราคายางยังคงผันผวน แต่คาดว่าจะ ปรับตัวในทิศทางบวก เนื่องจากอุปทานยางธรรมชาติลดลงจากการที่อยู่ในช่วงฤดูยางผลัดใบ
การผลิต
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.98 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.76 ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการผลิตยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.08 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรม
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายในประเทศ
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.05 และ 2.24 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญในประเทศ ประกอบด้วยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาส เดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นในส่วนของยางนอกและยางในของรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ที่ปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย สำหรับในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.91และ 13.13 ตามลำดับ
การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ เนื่องจากขยายตัวตามการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรม
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออก
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 2,406.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.53 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.68 สำหรับตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออก 2,158.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.18
การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางที่ลดลงนี้ เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาทำให้ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้น เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 31.18 เนื่องจากได้ตัดสิทธิ GSP ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ จากการที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ามาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเกินเพดาน ในปี 2554 คือ 225 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการตัดสิทธิดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และตลาดสหภาพยุโรปที่ชะลอเมื่อปีก่อนได้ปรับตัวดีขึ้นตลาดส่งออกสำคัญของผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย
การนำเข้า
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 การนำเข้ายาง รวมเศษยาง มีมูลค่า 312.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 0.78 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.35 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้อง ปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 314.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 5.60 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.47
การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในประเทศ ซึ่งทำให้การแข่งขันของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศ ปี 2556 จะมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากมียางรถยนต์นำเข้าจากประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยใช้การตัดราคาในการแข่งขัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้รถประเภท Eco Car ที่เพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ส่วนหนึ่งมาจากกรอบข้อตกลง FTA ส่งผลให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย ตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี
ราคาสินค้า
ราคายางไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2554 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้การบริโภคยางพาราอยู่ในระดับต่ำ
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
1. นโยบายการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคายาง เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ เป็นการดึงปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาด เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของยางและผลักให้ราคายางเพิ่มขึ้น
2. ในปีงบประมาณ 2556 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนิน โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย โครงการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราสู่มาตรฐานสากล และโครงการพัฒนาระบบข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนิน โครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
3. ประเด็นสำคัญที่น่ากังวลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของไทยในระยะต่อไป คือ ตามที่ร่างพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... เปิดช่องให้คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยสามารถประกาศเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกจากผลิตภัณฑ์ยางประเภทใดก็ได้ โดยประเด็นนี้จะสร้างความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งเมื่อมีการประกาศเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง จะทำให้ผลิตภัณฑ์ยางที่ ส่งออกจากประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่าผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศอื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถ ในการแข่งขันของผู้ประกอบการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทย ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยของบริษัทข้ามชาติ และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ รายอื่น เช่น อินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศไทย ซึ่งไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง และยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนแรงงานอีกด้วย
สรุปและแนวโน้ม
สรุป
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะซึ่งขยายตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้ตัดสิทธิ GSP ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดหลักที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
แนวโน้ม
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากกระแสวิตกกังวลเรื่องสุขภาพอนามัย และเป็นสินค้าจำเป็นทั้งทางการแพทย์ ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง คือ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก
การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะคาดว่าจะยังทรงตัว เนื่องจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้ตัดสิทธิ GSP ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2555 สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะตลาดหลักที่สำคัญคือสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 2 ปี 2556 ยังมีความผันผวน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลในด้านลบ คือ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และอุปทานยางธรรมชาติกำลังจะลดลงจากฤดูยางผลัดใบ
หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่เก็บข้อมูล
ผลิตภัณฑ์ จำนวนโรงงานที่เก็บข้อมูล ยางนอกรถยนต์นั่ง 5 ยางนอกรถแทรกเตอร์ 5 ยางนอกรถบรรทุกและรถโดยสาร 8 ยางนอกรถจักรยานยนต์ 10 ยางนอกรถจักรยาน 6 ยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร 8 ยางในรถจักรยานยนต์ 10 ยางในรถจักรยาน 6 ยางรอง 7 ยางหล่อดอก 7 ถุงมือยางถุงมือตรวจ 7 ยางรัดของ 4 ยางแผ่น 16 ยางแท่ง 14
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--