ดัชนีฯ MPI เม.ย.56 หดตัวลง 3.8% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60.28%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2013 15:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายนหดตัวลดลงร้อยละ 3.8 เป็นผลจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงรวมถึงวันหยุดที่มีมากในปีนี้และการชะลอการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อรองรับมาตรการป้องกันไฟฟ้าดับอันเนื่องมาจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงจ่ายก๊าซธรรมชาติของพม่า

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนเมษายน 2556 หดตัวลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงวันหยุดที่มีมากในปีนี้และการชะลอการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อรองรับมาตรการป้องกันไฟฟ้าดับอันเนื่องมาจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงจ่ายก๊าซธรรมชาติของพม่าโดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 60.28 อย่างไรก็ตาม ภาพรวม 4 เดือนแรกปี 2556 การนำเข้ารวมขยายตัวร้อยละ 8.6 ซึ่งในเดือนเมษายน การนำเข้ารวมขยายตัวร้อยละ 8.9 ขยายตัวทั้งการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป โดยการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 2.3 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 10.9

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ มีดังนี้

อุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.53 โดยมีสาเหตุหลักจากการที่ผู้ผลิตขยายกำลังการผลิตในปีก่อน จึงมีปริมาณรถยนต์ที่ผลิตได้มากขึ้น เพื่อเร่งส่งมอบให้กับผู้จองรถยนต์ในโครงการรถคันแรกเป็นหลัก

HARD DISK DRIVE เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 17.12 มีสาเหตุจากการปิด plant และย้ายเครื่องจักรบางส่วนไปยังประเทศสิงคโปร์ ของบางบริษัท

การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวลดลงร้อยละ 5.48 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอตัว ทั้งนี้ หน่วยงาน SIA Semiconductor

Industry Association) ได้รายงานยอดขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกไตรมาสแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.87 มีสาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่ร้อนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงร้อยละ 23.71 เป็นผลมาจากกุ้งแช่แข็ง เป็นหลัก เนื่องจากกุ้งไม่ได้ขนาดตามต้องการและปัญหาโรคระบาดในกุ้ง

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดการผลิตลดลงร้อยละ 13.96 จากเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชาย สาเหตุหลักมาจากคำสั่งซื้อสินค้าลดลงจากตลาดหลัก ทั้งตลาดยุโรป สหรัฐฯและญี่ปุ่น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัว ทำให้กำลังซื้อจากประเทศดังกล่าวลดลง และการย้ายฐานของผู้ผลิตไทย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ