สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 20, 2013 15:03 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ระดับ 159.16 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.84 โดยมีสาเหตุการลดลงของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 อาทิฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงวันหยุดที่มีมากในปีนี้และการชะลอการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อรองรับมาตรการป้องกันไฟฟ้าดับอันเนื่องมาจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงจ่ายก๊าซธรรมชาติของเมียนมาร์ สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2556ขยายตัวร้อยละ 5.98 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 6.6

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนเมษายน 2556อยู่ที่ระดับ 159.16 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.84 โดยมีสาเหตุการลดลงของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 อาทิฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลแปรรูปชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงวันหยุดที่มีมากในปีนี้และการชะลอการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อรองรับมาตรการป้องกันไฟฟ้าดับอันเนื่องมาจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงจ่ายก๊าซธรรมชาติของเมียนมาร์

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนเมษายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 60.28 จากร้อยละ 71.03ในเดือนมีนาคม 2556 และร้อยละ 59.40 ในเดือนเมษายน 2555 เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 5.98 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 6.6

หมายเหตุ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

1 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

2 อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(เมษายน 2556)

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนเมษายน 2556 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.3 กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก เช่น กุ้ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 51.4เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งส่งผลให้ต้องพักบ่อเพื่อกักกันโรค ซึ่งทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานลดลง ส่วนกลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 13.6 เนื่องจากสต็อกมีอยู่ในปริมาณมาก

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ การผลิตเส้นใยสิ่งทอ และสิ่งทอ อื่นๆ (ยางยืด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 และ 25.1 ตามลำดับเนื่องจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีคำ สั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเอเซียและอาเซียนโดยเฉพาะจากอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และเวียดนาม ส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพิ่มสูงขึ้น

การผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ปริมาณการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1ในขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลงร้อยละ 5.7 จากคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักทั้ง สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ลดลง

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ 1.19 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 1.32 แต่เหล็กทรงยาว มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.01 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB)โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (BlackSea) ในช่วงเดือนเมษายน 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวมีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน170,451 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555 ซึ่งมีการผลิต 145,179 คัน ร้อยละ 17.41 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ร้อยละ 33.48 เนื่องจากเดือนเมษายนมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวันจึงมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลง ทั้งนี้เป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตันและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับการส่งออก มีจำนวน 67,641 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2555ซึ่งมีการส่งออก 55,433 คัน ร้อยละ 22.02 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การผลิต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.1 ซึ่งมาจากอุตสาหกรรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 15.4 เนื่องจากความต้องการในตลาดอิเล็กทรอนิกส์เริ่มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีการปิดสายการผลิตโทรทัศน์จอ CRT ไปเกือบหมดแล้ว แต่ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ เช่น เครื่องปรับอากาศมีการขยายตัวมากถึงร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ