ดัชนีฯ MPI มิ.ย. 56 ติดลบ 3.5% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.09%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2013 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน หดตัวลดลงร้อยละ 3.5 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สาเหตุหลักที่ทำให้ลดลงมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการ
ปรับตัวลดลง 15.53% โดยเฉพาะ HARD DISK DRIVE ลดลง 17.59% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.09%

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) โดยไตรมาสที่ 2 หดตัวลงร้อยละ -5.2 ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2556 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 175.71 ลดลงร้อยละ 1.1 ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยภาพรวม 6 เดือนแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.95

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรายเดือน มิถุนายน 2556 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้

อุตสาหกรรมรถยนต์ ยังมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอุตสาหกรรมรถยนต์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 โดยคาดว่ามี 2556 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,550,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.62 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศประมาณ 1,550,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.73 การส่งออกรถยนต์ประมาณ 1,000,000 คัน ลดลงร้อยละ 2.25 อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตขยายตัวขึ้น ร้อยละ 5.0 คาดว่าความต้องการบริโภคเหล็กโดยรวมของประเทศจะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี จากปัจจัย การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งกระทบกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการชะลอตัวลงของภาคการก่อสร้าง รวมถึงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่จะชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2556 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 14.04 จากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 15.53 โดยเฉพาะ HARD DISK DRIVEลดลง ร้อยละ 17.59 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 6.67

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศประกอบกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศการส่งออกเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ในขณะที่ผ้าผืนมีการผลิตลดลงส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มได้แก่การผลิต

เสื้อผ้า สำเร็จรูปการผลิตลดลงจากคำสั่งซื้อของตลาดหลักกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา แนวโน้มครึ่งปีหลังปี 2556 และทั้งปี 2556 ประมาณการว่า จะขยายตัวได้ในส่วนของการผลิตเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืน เพื่อสนองความต้องการโดยเฉพาะผู้ผลิตในอาเซียน

อุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.2 การส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 8.8 แนวโน้มการผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 คาดว่า การส่งออกยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 5 สำหรับแนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2556 คาดว่า จะปรับตัวลดลง จากปี 2555 ร้อยละ 5.6 จากการผลิตที่ลดลงตามปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับ ผลกระทบจากภัยแล้งและโรคระบาด

สศอ.ปรับประมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยคาดการณ์ปี 2556 การขยายตัวของ GDP อุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.0 — 4.0 และ MPI จะขยายตัวร้อยละ 0.5 — 1.0

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

Index                       ------------------------------  2555  -----------------------------------     ----------------- 2556 -----------------
                             พ.ค.     มิ.ย.     ก.ค.    ส.ค.     ก.ย.    ต.ค.     พ.ย.     ธ.ค.     ม.ค.    ก.พ.    มี.ค.     เม.ย.     พ.ค.    มิ.ย.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม          189.93   183.26   179.63   175.23   174.2   174.58   188.77   176.42   176.88  170.49  195.74   159.19   175.21  176.77
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %     14.3     -3.5       -2     -2.4    -0.6      0.2      8.1     -6.5      0.3    -3.6    14.8    -18.7       10     0.9
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %      6.1     -9.5     -5.4    -11.1   -15.8       36     82.4       23     10.3    -1.3     0.9     -4.2     -7.8    -3.5
อัตราการใช้กำลังการผลิต %       69.27    66.77    67.41    66.27   64.98    68.58    68.89     63.5     67.1   62.97   71.14    60.21    65.81   64.09

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ