สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกรกฎาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 20, 2013 16:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ระดับ 176.77 หดตัวร้อยละ 3.5 สาเหตุจากการส่งออกที่ลดลงโดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน หดตัวหรือลดลงร้อยละ 1.76 ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ โทรทัศน์สีและวิทยุ

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ระดับ 176.77 หดตัวร้อยละ 3.5 เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นับจากเดือนเมษายน ทำให้ MPI ใน ไตรมาสที่ 2 ปี 2556 หดตัวร้อยละ 5.22 โดยสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกที่ลดลง อุตสาหกรรมสำคัญที่การผลิตลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ โทรทัศน์สีและวิทยุ

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนมิถุนายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 64.09 จากร้อยละ 65.81 ในเดือนพฤษภาคม 2556 และร้อยละ 66.77 ในเดือนมิถุนายน 2555

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

หมายเหตุ

1 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

2อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2556 หดตัวหรือลดลงร้อยละ 1.76 ลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่เมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 0.78

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(มิถุนายน 2556)

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมิถุนายน 2556 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.1 สินค้าสำคัญ เช่น กุ้ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 59.0 เป็นผลจากการเกิดโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ส่งผลให้ต้องพักบ่อเพื่อกักกันโรค ซึ่งทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่โรงงานลดลงลดลง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน ผ้าลูกไม้ และสิ่งทออื่น ๆ (ยางยืด) ลดลงร้อยละ 12.9 14.5 16.1 และ 1.6 ตามลำดับ ยกเว้นเส้นใยสิ่งทอฯ ที่ตลาดยังมีความต้องการเพื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป ทำให้การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5

ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักลดลงร้อยละ 3.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักทั้งญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปลดลง แต่เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 โดยเพิ่มในตลาดสหรัฐอเมริกา และอาเซียน

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.51 โดยเหล็กทรงยาวมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.13 แต่เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 9.60 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทุกชนิดมีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 217,110 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งมีการผลิต 208,755 คัน ร้อยละ 4.00 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2556 ร้อยละ 6.37 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับการส่งออก มีจำนวน จำนวน 96,182 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2555 ซึ่งมีการส่งออก 94,907 คัน ร้อยละ 1.34 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบโอเชียเนีย แอฟริกา และยุโรป

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 9.6 ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีการใช้เงินล่วงหน้าไปแล้วกับโครงการรถคันแรกและการระมัดระวังการใช้จ่ายจากสัญญาณเชิงลบของสถานการณ์เศรษฐกิจรวมถึงตลาดส่งออกชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม สายไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการที่ภาครัฐมีการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ