การศึกษาได้แบ่งผลิตภัณฑ์เหล็กเป็น 4 ประเภท คือ (1) ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตสูงและมีการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (2)ผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไทยมีปัญหาความสามารถการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตหรือคุณภาพการผลิต ทำให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศคู่เจรจาที่สำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกที่ปัจจุบันประสบปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (3)ผลิตภัณฑ์เหล็กในขั้นปลายน้ำที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ที่ปัจจุบันยังไม่มีในไทย ทำให้ต้องนำเข้าจากประเทศคู่เจรจาที่สำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีใต้ และมีแนวโน้มที่จะนำเข้าเพิ่มจากจีน และอินเดียในอนาคต (4)ผลิตภัณฑ์เหล็กที่อยู่ต้นทางของสายการผลิตที่มีห่วงโซ่อุปทานสายยาว และปัจจุบันผลิตได้ในชั้นคุณภาพทั่วไปในปริมาณจำกัดหรือยังไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดของการขาดวัตถุดิบที่มีความสะอาดสูงอย่างสม่ำเสมอจึงทำให้ปัจจุบันต้องมีการนำเข้าจำนวนมาก และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาขีดความสามารถของทั้งอุตสาหกรรมเหล็กในขั้นปลายและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก
นายสมชาย หาญหิรัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทยจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยการวิเคราะห์ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อุตสาหกรรมเหล็กจนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทำให้สามารถสรุปแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กภายใต้ AEC ดังนี้
1. อำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตสินค้าที่ไทยมีศักยภาพการผลิต เช่น เหล็กเส้นก่อสร้าง, เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนสำหรับใช้งานโดยตรง, เหล็กแผ่นรีดเย็นชนิดเหล็กกล้าคาร์บอนไม่ผ่านการอบอ่อน สามารถส่งออกสินค้าและใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเสรีอย่างไม่มีอุปสรรคด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีได้
2. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเพื่อสร้างเครือข่ายทางการค้าและการกระจายสินค้า ตลอดจนผลักดันการร่วมทุนทางธุรกิจเพื่อทำให้อุตสาหกรรมเหล็กสามารถขยายตลาดการค้าผลิตภัณฑ์เหล็กได้มากยิ่งขึ้นในอาเซียน
3. อนุญาตให้มีการนำเข้าและลดอุปสรรค รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเกรดสูงปลายน้ำที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ จากประเทศคู่เจรจาหรือประเทศในอาเซียนและผลักดันให้เกิดการลงทุนในประเทศ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียน
4. ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นข้อจำกัดของไทยเนื่องจากติดปัญหาการยอมรับของชุมชนในพื้นที่
5. สร้างเครือข่ายการจัดหาวัตถุดิบและสร้างกลไกในการพัฒนาร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลิตและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--