นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยางล้อของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมีกำลังการผลิตประมาณ 50 ล้านเส้น โดยในปี 2555 มีมูลค่าการส่งออก 3,483.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับ 7 ของโลก แต่ยังคิดเป็นเพียงร้อยละ 3.89 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในตลาดโลก ข้อได้เปรียบของอุตสาหกรรมยางล้อของไทย คือ มีความพร้อมด้านวัตถุดิบยางธรรมชาติ รวมทั้งตราสินค้า “Made in Thailand” ยังเป็นที่ยอมรับมากกว่าจีนและอินโดนีเซีย อีกทั้งยังมีโอกาสที่สำคัญ คือ ตลาดยางล้อในภูมิภาคเอเชียเติบโตมากขึ้นแต่จุดอ่อน คือ ต้นทุนแรงงานและพลังงานสูงเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญเนื่องจากมีวัตถุดิบยางมากเป็นอันดับ 2 รองจากไทย อีกทั้งมีตลาดภายในที่ใหญ่กว่าไทย นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมยางล้อของไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร คือ ผู้ประกอบการไทยมีเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าสมัย ไม่มีเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
“การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สศอ. จึงร่วมกับสถาบันให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อศึกษาความต้องการใช้เทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ยางที่เหมาะสมของไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มความต้องการในอนาคต ซึ่งจะเน้นกลุ่มยางล้อเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติในการผลิตมากที่สุด คือ ร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้ยางทั้งหมด ปัจจุบันความต้องการเรเดียลในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการยางล้อของไทยส่วนใหญ่ ยังคงผลิตยางล้อประเภทยางผ้าใบ มีการผลิตยางล้อประเภทเรเดียลไม่มากนัก เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางล้อไทย คือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การผลิตยางเรเดียล โดยกำหนดแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีแบ่งเป็น 2 ระยะ (1) แผนระยะสั้น (ปี 2556-2565) เป็นการเลียนแบบเทคโนโลยีประเทศที่มีศักยภาพการผลิต ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย คือ ยางล้อที่มีอายุการใช้งานที่นานขึ้น เน้นเทคโนโลยีสำหรับการผลิตยาง
เรเดียล โดยโครงสร้างยางเรเดียลเป็นเส้นลวดเหล็กกล้า 1 ชั้น วางทำมุม 90 องศา กับเส้นรอบวงยางแผ่กระจายเป็นแนวรัศมีออกจากศูนย์กลางโดยรอบ และมีเข็มขัดรัดหน้ายางซึ่งเป็นเส้นลวดเหล็กกล้า 4 ชั้นคาดยึดโครงยางไว้ ทำให้ยางเรเดียลมีความต้านทานต่อการสึกหลอสูงกว่ายางผ้าใบ มีอายุใช้งานยาวนานกว่ายางผ้าใบ 1.5 - 2 เท่า (2) แผนระยะยาว (ปี 2566 - 2575) ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย คือ ยางล้อประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น เทคโนโลยีที่ใช้จะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ การออกแบบยางล้อที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเครื่องทดสอบมาตราฐานยางล้อของต่างประเทศเช่น มาตราฐานยางล้อ UNECE ของสหภาพยุโรป” นายสมชายกล่าว
นายสมชายฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา สศอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางต่อเนื่อง โดยจะเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง จะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยางอย่างยั่งยืน และเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวข้ามจากประเทศผู้ผลิตยางแปรรูปขั้นต้นมาเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางได้”
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--