อก. เตรียมผลักดันโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ต่อเนื่องในปี 2557 หลังประสบผลสำเร็จใน 2 ปีที่ผ่านมา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2013 14:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เตรียมขยายผลโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ชี้อุตสาหกรรมนี้ยังสามารถพัฒนาได้อีก เผยผลที่ผ่านมาเข้าไปช่วยเพิ่ม Productivity 44 โรงงานที่ร่วมโครงการให้ลดต้นทุนต่อปีได้กว่า 300 ล้านบาท พัฒนาโรงงานจำนวน 81 ราย ให้พร้อมขอรับการรับมาตรฐาน ISO 13485 หวังสร้างความร่วมมือผู้ประกอบการ หน่วยวิจัย/ทดสอบ และหน่วยงานแพทย์บูรณาการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์นำร่องกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานโลก เพื่อสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเจาะตลาดระดับกลางและสูง หนีตลาดล่างที่แข่งขันสูง เตรียมพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานแสดงนวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศในอนาคต จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่สำคัญในอาเซียนภายในปี 2563 โดยเน้นผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยราคาที่เหมาะสม แทนการนำเข้าสินค้าที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมในประเทศเชื่อมต่อเครือข่ายกับ Supply Chain ของโลก โดยในปี 2555-2556 ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ดำเนินโครงการนำร่องภายใต้โครงการ “Flagship” ของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สร้างกระแสการตื่นตัวให้กับทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งทั้ง 3 โครงการนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีแผนที่จะผลักดันงบประมาณโครงการนี้ต่อเนื่องต่อไปในปี 2557 โดยครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินการให้มากขึ้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า สศอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ในปี 2555-2556 จำนวน 3 โครงการ โดยแต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ดังนี้

1. โครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพด้านการเพิ่ม Productivity และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 โดย สศอ. ร่วมกับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าปรับปรุงผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา มีโรงงานเข้าร่วมโครงการจำนวน 105โรงงาน ผลการดำเนินการสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตคิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการให้คำปรึกษาโรงงานให้มีความพร้อมในการขอมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับของ AEC อีก 31 โรงงาน ซึ่งในปี 2556 นี้ พบว่าผู้ประกอบการมีความตื่นตัวในเรื่องของมาตรฐานเพิ่มขึ้นมาก

2. โครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่ บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้มีขีดความสามารถในการผลิตหรือการออกแบบวัสดุอุปกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และมีรูปแบบที่ทันสมัยเหมาะสมกับผู้ใช้มากขึ้น รวมทั้งมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์และได้มาตรฐานสากล โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2555 โดยได้ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 17 ผลิตภัณฑ์ และในปี 2556 ดำเนินการอีก 13 ผลิตภัณฑ์ รวม 30 ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ระบบแสดงผลภาพทางการแพทย์ 3 มิติ สำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลัง ซึ่งจากเดิมต้องใช้ซอฟต์แวร์และระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศที่มีราคาสูง และบางผลิตภัณฑ์จะเป็นการพัฒนาวัสดุและปรับปรุงรูปแบบให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น เช่น การพัฒนาเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำแสงกรวยสำหรับงานทันตกรรม โดยเปลี่ยนจากการใช้เหล็กขึ้นรูปมาเป็นไฟเบอร์กลาส รวมถึงการออกแบบเก้าอี้ผู้ป่วยใหม่เป็นเก้าอี้อะคริลิก และเพิ่มที่วางคางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไข้และความแม่นยำของการถ่ายภาพ รวมถึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุเพื่อติดต่อสื่อสารกับแพทย์และญาติผ่านทางไกลบนระบบ Internet และผลิตภัณฑ์ “BluRibbon” วัสดุปิดบาดแผลชนิดไม่ติดแผลสำหรับแผลโพรง ได้ดำเนินการทดสอบกับผู้ป่วยแผลเรื้อรังและเฉียบพลันในผู้ป่วยแผลเบาหวาน แผลกดทับ และแผลสุนัขกัดจำนวน 38 แผล พบว่าบาดแผลมีขนาดลดลง ร้อยละ 84.74 และบาดแผลโพรงมีความตื้นขึ้นในระยะเวลา 28 วัน เป็นต้น

3. โครงการศึกษาวิจัยโอกาสทางธุรกิจและการเพิ่ม Value Creation สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดย สศอ. ได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในปี 2555 ได้ศึกษาแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ และสำหรับในปี 2556 นี้ ได้จัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนได้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังจะจัดทำแนวทางการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพในเชิงเทคนิคและวิศวกรรม เพื่อให้แพทย์และผู้ที่มีส่วนในการจัดซื้อสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคที่เหมาะสมกับการใช้งาน อันจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

สุดท้ายผู้อำนวยการเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยังได้ฝากถึงภาคเอกชนให้เห็นถึงความสำคัญของพัฒนาธุรกิจของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสินค้าของตนให้มี value creation สูงขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงรักษาคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายคนยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและให้ความสำคัญน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันในอนาคต ทั้งนี้หากผู้ประกอบการรายใดมีความสนใจเข้าร่วมโครงการหรือมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการที่ สศอ. ได้โดยตรง ซึ่ง สศอ. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ