ผู้ประกอบการไทยพร้อมพัฒนานวัตกรรมอาหารเชิงสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2013 14:58 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารตอบรับและพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมอาหารสำหรับคนรักสุขภาพเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตามสภาพเศรษฐกิจ และวิถีการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 9 ล้านคนในปัจจุบัน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.46 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ถือได้ว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และในอนาคตคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.15 ในปี 2573 ซึ่งจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) การหันมาให้ความสนใจต่อการดูแลประชากรผู้สูงอายุด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะญี่ปุ่นได้มีการดำเนินการในวาระแห่งชาติ โดยเน้นการพัฒนานวัตรกรรมควบคู่ไปกับการวิจัยและการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งในระยะเริ่มแรก จะเป็นการผลิตเพื่อป้อนโรงพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุโดยตรง แม้การเติบโตจะไม่รวดเร็ว แต่สามารถดำเนินธุรกิจได้ประสบผลสำเร็จและสามารถขยายไปแข่งขันได้ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และการขายผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต รวมถึงการส่งออกในปัจจุบัน

นายสมชาย เปิดเผยต่อไปว่า จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย พบว่ามีหลายรายสนใจและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะอยู่ระดับหนึ่ง และเชื่อว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุนับวันจะเพิ่มมากขึ้น และจากการสำรวจพฤติกรรมผู้สูงอายุที่เป็นลูกค้าของบริษัทต่างๆ พบว่า ผู้สูงอายุไทยมีความภักดีต่อสินค้า และห่วงใยสุขภาพ ประกอบกับกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่เติบโตในอัตราที่ก้าวกระโดด ทำให้โอกาสทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีมากขึ้น และคาดว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 — 1,000 ล้านบาทใน 1— 2 ปีข้างหน้า

นายสมชายกล่าวต่อไปว่า จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว สศอ. และสถาบันอาหารได้ศึกษาแนวทางการพัฒนานวัตกรรมอาหารเชิงสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยการสังเคราะห์พฤติกรรมการบริโภค การพัฒนาและความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีการผลิต เพื่อหาแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพ (Product concept) สำหรับตลาดผู้สูงอายุในประเทศไทย ได้มีการจัดการประชุมระดมสมองเพื่อจัดทำข้อเสนอและ

แนวนโยบาย กลยุทธ์ และมาตรการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอาหารเชิงสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผลการประชุมพบว่าผู้ประกอบการอาหารหลายราย ได้ให้การตอบรับและมีความพร้อมที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์

โดยได้ให้ข้อสังเกตและความต้องการสนับสนุนจากภาครัฐรองรับในด้านต่างๆ เช่น สื่อสารให้สังคมไทยรับรู้และตระหนักต่อการดูแลอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ปัญหาในการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุ เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

และการจัดการกับอาหารเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่ผู้สูงอายุประสบอยู่ เช่น การสำลัก การเคี้ยว การกลืน และคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายทั้งในเรื่องอายุ โรคประจำตัว และการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงศักยภาพในด้านเศรษฐกิจและสังคมยอมรับจากการที่ผู้สูงอายุไทยมีรายได้ที่ต่างกัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเสนอว่า เป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถผลิตเพื่อส่งออกรองรับความต้องการของผู้สูงอายุในระดับโลกได้ จากความได้เปรียบทางด้านความน่าเชื่อถือของคุณภาพอาหารไทยได้มาตรฐาน โดยต้องประสานผู้ที่เกี่ยวข้องตลอด Value Chain ของการผลิต และต้องได้รับการสนับสนุนทางวิชาการและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการใช้เทคโนโลยีในการผลิตจากภาครัฐและสถาบันการศึกษา รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานและกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอาหารเพื่อผู้สูงอายุของไทยด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ