สศอ. นำร่องจัดทำดัชนีเชิงคุณภาพแทรกเตอร์การเกษตรเพื่อติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 7, 2013 15:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าจากการที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทยยังไม่มีข้อมูลการผลิตหรือดัชนีการผลิต เพื่อใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อุตสาหกรรม เนื่องจากการจัดทำข้อมูลในเชิงปริมาณจำเป็นต้องมีแหล่งข้อมูลโดยตรงที่ชัดเจนและต่อเนื่องนั่นคือผู้ประกอบการจะต้องให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และด้วยข้อจำกัดของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและกลาง และไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลการผลิตหรือให้ข้อมูลที่ไม่ต่อเนื่อง จึงทำให้การจัดทำดัชนีเชิงปริมาณไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นภายใต้โครงการศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลในปี 2556 นี้ สศอ. จึงได้จัดทำโครงการนำร่องการศึกษาดัชนีเชิงคุณภาพ

เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล โดยกลุ่มที่เลือกมาศึกษาคือ แทรกเตอร์การเกษตร และเลือกสำรวจสภาวะการขายรถแทรกเตอร์การเกษตรเป็นเป้าหมายการศึกษา สำหรับการทำดัชนีเชิงคุณภาพมีหลายรูปแบบแต่ที่นิยม คือ ดัชนีการกระจาย(Diffusion Index)

นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาดังกล่าวได้มีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเบื้องต้นทำให้ทราบว่า ประเทศไทยมีขนาดของตลาด (Market size) รถแทรกเตอร์การเกษตรปีละประมาณ 70,000 คัน โดยมีการประกอบรถในประเทศ 60,000 คัน นำเข้า 16,917 คัน ส่งออก 7,891 คัน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตหลักในประเทศเพียง 2 ราย คือ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ยี่ห้อ คูโบต้า) และบริษัทยันม่าร์ เครื่องจักรกลการเกษตร (ประเทศไทย) จำกัด (ยี่ห้อยันม่าร์) โดยมีสยามคูโบต้าเป็นผู้นำตลาดที่มีการจัดการ Supply chain ตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนไปจนถึงการประกอบรถแทรกเตอร์ ขณะที่ยันม่าร์เป็นผู้ผลิตที่นำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จมาประกอบในประเทศ ที่เหลือเป็นรายเล็กที่นำเข้าชิ้นส่วนสำเร็จมาประกอบในประเทศ เช่น บริษัท กมลอินดัสทรี จำกัด ผลิตรถแทรกเตอร์ล้อยาง กลุ่มโรงงานเกษตรพัฒนาผลิตรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบ สำหรับรถแทรกเตอร์การเกษตรที่นำเข้า มีผู้นำเข้าหลัก 3 กลุ่ม คือ (1)บริษัทเอเซีย แปซิฟิก เครื่องจักรกลการเกษตร จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ New Holland (2) บริษัท จอห์นเดียร์ ประเทศไทย จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ John Deere และ (3) บริษัท แองโกลไทย จำกัด นำเข้าและจำหน่ายแทรกเตอร์ยี่ห้อ Kioti และ Massey Furguson

และจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการผลิตและนำเข้า พบว่า ผู้ผลิตภายในประเทศมีสัดส่วนการตลาดประมาณ ร้อยละ 70 ของปริมาณการขายและที่เหลือตลาดเป็นของผู้นำเข้า (รวมการนำเข้ารถใหม่และรถมือสอง) และหากประเมินโครงสร้างตลาดจำแนกตามภาค พบว่า ภาคอีสานเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วนตลาดประมาณ ร้อยละ 60 ของการขายรถแทรกเตอร์ทั้งหมด

ภาคเหนือมีสัดส่วน ร้อยละ 25 ภาคกลาง ร้อยละ 10 และที่เหลืออยู่ภาคใต้ และจากการสำรวจร้านค้าจำหน่ายแทรกเตอร์การเกษตร พบว่า ในบางพื้นที่จะไม่นิยมใช้แทรกเตอร์การเกษตรเนื่องจากมีน้ำหนักมากไม่เหมาะกับสภาพดินที่อ่อน รถจะจมเมื่อลงในแปลงเพาะปลูก ดังนั้นจึงใช้รถไถเดินตามสำหรับช่วยในการเพาะปลูก อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม หลายพื้นที่สมัยก่อนเคยมีการใช้รถไถเดินตามแต่ด้วยกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการทำโปรโมชั่นทางการตลาดของผู้ผลิตและผู้นำเข้าแทรกเตอร์การเกษตรจึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้แทรกเตอร์แทนรถไถเดินตามเนื่องจากข้อได้เปรียบ คือ ความสามารถในการทำงานได้รวดเร็วกว่าทำให้สามารถเพาะปลูกได้เร็ว ซึ่งเหมาะสมกับภาวะปัจจุบันที่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

นายสมชาย กล่าวต่อไปว่าผลการสำรวจและจัดทำดัชนีเชิงคุณภาพซึ่ง สศอ. ได้จัดทำเบื้องต้นในเดือนมิถุนายน- สิงหาคม 2556 พบว่า ดัชนีรวมภาวะธุรกิจเครื่องจักรกลแทรกเตอร์การเกษตรในภาพรวมมีทิศทางตลาดที่ชะลอตัวลง โดยเดือนมิถุนายนมีค่าดัชนี 37.92 กรกฎาคมอยู่ที่ 39.05 และสิงหาคมอยู่ที่ 38.28 แสดงถึงภาวะการขายแทรกเตอร์การเกษตรที่ผู้จำหน่ายส่วนใหญ่มองว่าไม่ดี ซึ่งปัจจัยที่มีผลทำให้ภาวะธุรกิจแทรกเตอร์การเกษตรในเดือนมิถุนายน- สิงหาคม 2556 ชะลอตัวเนื่องจากราคาสินค้าการเกษตรและผลผลิตการเกษตรที่ยังไม่ดีเท่าที่ควรและยังไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ประกอบกับภูมิอากาศแปรปรวน สำหรับการคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า ยังคงมีทิศทางที่ปรับลดลง แต่เป็นการปรับลดที่ไม่มากเนื่องจากระดับดัชนีอยู่ใกล้กับค่ากลางที่ระดับ 50 โดยเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 44.57 กรกฎาคมอยู่ที่ 47.37 และสิงหาคมอยู่ที่ 46.54 ตามลำดับ สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้การคาดการณ์ธุรกิจแทรกเตอร์การเกษตรที่มีค่าดัชนีใกล้ระดับ 50 ในช่วงปลายปีเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่คาดว่าจะเริ่มทรงตัว ประกอบกับผลผลิตการเกษตรที่คาดว่าจะเริ่มออกสู่ตลาด ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรที่ได้เข้าร่วมการสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ต้องการให้ทาง สศอ. ดำเนินการสำรวจและจัดทำดัชนีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นตัวชี้นำทางธุรกิจให้กับภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนีเชิงคุณภาพแทรกเตอร์การเกษตรถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมเนื่องจากแทรกเตอร์ถือเป็นเครื่องจักรที่สามารถใช้ทดแทนแรงงานและลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือ อุตสาหกรรมเกษตรของไทยนั่นเอง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ