ปัญหาเศรษฐกิจครั้งสำคัญหลังจากที่สภาคองเกรสไม่ผ่านงบประมาณคลังทำให้เกิด“Government Shutdown” รวมถึงปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ซึ่งพรรครีพับลิกัล พยายามเชื่อมโยงให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายประกันสุขภาพ (Obamacare) ออกไป ซึ่งเหตุการณ์นี้จะมีผลหรือไม่อย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “แม้ว่าครั้งนี้การพิจารณาอนุมัติปรับเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling)ของสหรัฐฯจะไม่ง่ายนัก เพราะปัจจุบันการปรับเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling)ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 16.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ GDP ของสหรัฐฯ ในปี 2555 ที่ 15.68 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งพรรครีพับลิกัลมองว่านโยบายประกันสุขภาพ (Obamacare) เป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้ประเทศ โดยในช่วงการบริหารประเทศของประธานาธิบดีบารัค โอบามา 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) มาแล้วถึง 5 ครั้งแต่ในมุมมองของผมสภาคองเกรส มีโอกาสสูงที่จะอนุมัติการปรับเพดานหนี้สาธารณะ(Debt Ceiling)เพราะถ้าไม่อนุมัติจะเกิดผลกระทบให้สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ นำไปสู่การที่สหรัฐฯจะถูกปรับลดความน่าเชื่อถือ และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลุกลามกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลก”
“ในส่วนของการที่พรรครีพับลิกัลไม่เห็นชอบการผ่านงบประมาณคลังปี 2557 ส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลบางส่วนของสหรัฐฯ ที่ไม่ได้มีความสำคัญเร่งด่วนต้องปิดทำการลงหรือ “Government Shutdown” เป็นผลให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางกว่า 8 แสนคน ต้องถูกพักงาน ส่งผลกระทบต่อการบริโภคโดยรวมของสหรัฐฯ การไม่ผ่านงบประมาณคลังครั้งนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 ปี อย่างไรก็ตามนี่ไม่ได้เป็นการไม่ผ่านงบประมาณคลัง(Government Shutdown)ครั้งแรกแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 18 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตัน โดยครั้งนั้นเกิดขึ้นเป็นเวลา21 วัน สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ต่ำกว่าแสนล้านเหรียญหรือประมาณ 1%ของจีดีพี ในครั้งนี้ผมมองว่าอย่างไรเสียสภาคองเกรสก็ต้องผ่านงบประมาณ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ผ่านงบประมาณคลัง (Government Shutdown)ตลอดไป แต่ถ้ายิ่งยืดเยื้อก็ยิ่งเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และหากเหตุการณ์ยืดเยื้อยาวนานประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็เป็นไปได้ว่าจะกระทบต่อ GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสสุดท้ายของปี ให้หายไปประมาณ 1.2-1.4%”
“แต่ในกรณีเลวร้ายถ้าสหรัฐฯ ไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนี้ไปได้ สิ่งที่ไทยต้องเผชิญคือผลกระทบด้านการส่งออก สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 15,190 ล้านเหรียญฯ หรือประมาณ 9.94% ของการส่งออกไทย ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงแน่นอนว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ย่อมชะลอตามไปด้วย สินค้าส่งออกหลักที่ส่งไปสหรัฐฯ คือ คอมพิวเตอร์ ยาง เครื่องประดับ อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ผมมองว่ากลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยน่าจะได้รับผลกระทบมากสุดนอกจากนี้หากเหตุการณ์ยืดเยื้อผลกระทบจะไม่หยุดแค่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่อาจลุกลามส่งผลให้เศรษฐกิจโลกกลับไปชะลอตัวอีกครั้งซึ่งไทยคงต้องจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดครับ”
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--