สศอ. ผนวก 3 โครงการ สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และประชาชน ในการกำหนดทิศทางพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาครองรับ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 29, 2013 15:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงศักยภาพ

อุตสาหกรรมในภูมิภาคกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดทำ 3 โครงการ บูรณาการความร่วมมือกับผู้ประกอบ การ และประชาชนศึกษาอุตสาหกรรมเป้าหมายพื้นที่ชายแดนรองรับ AEC

จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดในประเทศ (Domestic Market) และตลาดภูมิภาค (Region Market) เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และใช้โอกาสจากการรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค อาทิ กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ GMS (Greater Mekong Subregion) ACMECS (Aeyawadee-Chaopraya-Mekong Economic Coorperation) และการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศไทยโดยเฉพาะโครงสร้างการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นเขตการผลิตเดียวและตลาดเดียว และมีมาตรฐานสินค้า กฎเกณฑ์กฎระเบียบเดียวกัน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ซึ่งมีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพและตลาดเกิดใหม่ที่กำลังขยายตัว ได้แก่ ประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันตกหรือทางฝั่งทะเลอันดามัน อาทิ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ประเทศอินเดีย บังคลาเทศและประเทศในแถบตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้านตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor) อาทิ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่เชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ดร. สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า สศอ. ตระหนักถึงความสำคัญในการเชื่อมโยงศักยภาพอุตสาหกรรมในพื้นที่กับการใช้โอกาสจากการขยายตัวของตลาด และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้ดำเนินโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก : East-West Economic Corridor และโครงการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคอาเซียน โครงการดังกล่าวทั้ง 3 โครงการ เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์แนวทาง มาตรการ กลยุทธ์ และข้อเสนอแนะในเชิงลึกที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงการผลิต การค้า และการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งเสนอแนะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ ศึกษาและกำหนดรูปแบบทางเทคนิค และวิศวกรรม (Conceptual Design) ของการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจ

สิ่งแวดล้อม และสังคมอย่างยั่งยืน โดยแบ่งพื้นที่เป้าหมายในการศึกษาออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ที่มีชายแดนที่สามารถเชื่อมโยงกับเมืองทวาย ประเทศสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร พื้นที่ที่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามันที่สามารถเชื่อมโยงกับเมืองทวาย สหภาพเมียนมาร์ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และพื้นที่เชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก ได้แก่ จังหวัดตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร นอกจากนี้ยังได้ศึกษาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคอาเซียน

จากผลการศึกษาทั้ง 3 โครงการ ได้แก่ การศึกษาข้อมูล การสำรวจศักยภาพ และการเก็บข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เบื้องต้น พบว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่เหมาะสม ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปปาล์มน้ำมัน แปรรูปยางพารา อาหารทะเลแปรรูป แปรรูปไม้และเครื่องเรือน (ไม้ยางพารา) เครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) และแปรรูปสับปะรด และอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมพื้นฐาน (เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติกสำหรับรถยนต์) ยางรถยนต์ เครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป) และอาหารทะเลแปรรูป ส่วนผลการศึกษาพื้นที่เชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก พบว่าอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยมีพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพ ได้แก่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามลำดับ สำหรับการศึกษาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในประเทศที่มีศักยภาพ พบว่าอุตสาหกรรมที่เหมาะสมในการเชื่อมโยงเครือข่าย และขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ผศอ. กล่าวต่อไปว่า ทั้ง 3 โครงการดังกล่าว สศอ. จะนำไปกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม และพื้นที่เป้าหมายรวมทั้งยุทธศาสตร์การยกระดับคลัสเตอร์และขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคอาเซียน กำหนดกลไกในการบริหารจัดการเพื่อบูรณาการผู้ที่มีส่วนได้เสียในการแปลงแผนงานไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางประกอบการจัดทำนโยบายต่อไป และเพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์ และสามารถนำไปใช้ได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ สศอ. จึงได้จัดสัมมนา และเผยแพร่ผลการศึกษา พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายใต้โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ณ จังหวัดกาญจนบุรี และโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก : East-West Economic Corridor ร่วมกับโครงการยกระดับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและขยายเครือข่ายการผลิตในภูมิภาคอาเซียน จัดขึ้น ณ จังหวัดตาก เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน ร่วมกันเป็นพลังสำคัญในการกำหนดทิศทาง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดประโยชน์สุขต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ