นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากผลการให้คำปรึกษาเชิงลึกร่วมกับสถาบันอาหาร เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการซาก แก่ผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากนม 2 ประเภท คือ นมสดพาสเจอร์ไรส์รสธรรมชาติ และโยเกิร์ต พบว่านมสดพาสเจอร์ไรส์ มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในขั้นตอนการผลิต คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 รองลงมาได้แก่ การได้มาซึ่งวัตถุดิบ ประมาณร้อยละ 30 ส่วนโยเกิร์ตมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากนมทราบว่าหากจะผลิตสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจะต้องมีการปรับปรุงการผลิตที่ขั้นตอนใด
?กรณีนมสดพาสเจอร์ไรส์ มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตมากที่สุด ซึ่งเกิดจากปัจจัยสำคัญ คือ การใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ทำให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ดังนั้น แนวทางในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ การนำเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไบโอแก๊สจากน้ำเสีย มาใช้ในการผลิตแทนการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาชีวมวลจะถูกหมุนเวียนกลับไปใช้โดยพืชเพื่อสังเคราะห์แสง จึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่วนกรณีโยเกิร์ต มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ โดยวัตถุดิบที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ได้แก่ น้ำนมดิบ อันเกิดจากการเลี้ยงโค ดังนั้น ควรทำการเลี้ยงโคแบบออร์แกนิก ซึ่งจะมีการปลูกพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี โดยลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูก จะสามารถช่วยลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกจากดินและน้ำได้ นอกจากนี้แปลงพืชอาหารสัตว์ดังกล่าว ยังจะทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศอีกด้วย?
นายสมชายให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากผู้ผลิตดำเนินปรับปรุงตามแนวทางดังกล่าว ผู้ผลิตจะมีส่วนร่วมในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากข้อมูลล่าสุดของ World Resources Institute ในปี 2553 ประเทศไทยปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในลำดับที่ 24 ของโลก ลำดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย โดยมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 381.94 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีการปลดปล่อยปริมาณ 337.09 MtCO2e หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.31
?นอกเหนือจากนมและผลิตภัณฑ์จากนมแล้ว ยังมีสินค้าอาหารอีกหลายประเภท ที่ สศอ. และสถาบันอาหารได้ให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น เครื่องดื่ม และขนมขบเคี้ยว ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และพร้อมรับกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่หลายประเทศกำหนด ซึ่งเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวรับมือกับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ ซึ่งผู้ผลิตรายใดสามารถปรับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมได้ก่อน จะเป็นผู้ที่มีความได้เปรียบและความพร้อมในการแข่งขัน และสามารถยืนหยัดในตลาดโลกได้ต่อไป?
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--