ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) วางแนวทางในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะทำการศึกษาด้านการพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Cluster) และรูปแบบการเชื่อมโยงเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจร การพัฒนาศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมแฟชั่น การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเส้นใยต้นแบบและการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค และการศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ)
ดร.สมชาย กล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมแฟชั่น ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทั้ง 3 สาขาอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2.2 ล้านคน โดยอุตสาหกรรมแฟชั่นสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าจากการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มประมาณ 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังประมาณ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมดังกล่าวกำลังประสบปัญหาและอุปสรรคที่รุมเร้าทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น ภาวะแรงงานตึงตัวโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่ผู้ประกอบการหลายแห่งจ่ายค่าแรงงานได้มากกว่า 300 บาท/วัน แต่พบว่ายังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่ ประกอบกับค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในสาขาที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเนื่องจากจะมีกำไรเหลือน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างต้นทุนและกำไรต่อยอดขายสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากร้อยละ 6.8 เหลือร้อยละ 1.9 ภายหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่ส่งออกจากไทยจะได้รับแต้มต่อจากสิทธิพิเศษทางการค้าลดลง โดยไทยถูกตัดสิทธิจากระบบสิทธิพิเศษเดิม เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยลดลงในขณะนี้
ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น ในปี 2557 สศอ. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashion Cluster) และรูปแบบการเชื่อมโยงเชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจร ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบการเชื่อมโยงเครือข่ายรูปแบบใหม่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นครบวงจรอยู่ในกลุ่มเดียวกันที่ครอบคลุมตลอดเรือนร่างของมนุษย์ (เสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า และเครื่องประดับ) ตลอดสายการผลิต พร้อมพื้นที่นำร่องที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมที่จะใช้แสดงออกทางความคิด ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนไทย และเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้จะดำเนินโครงการศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมแฟชั่น ควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีแหล่งข้อมูลเชิงลึกที่สมบูรณ์ทั้ง 3 อุตสาหกรรม ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ วางแผน และกำหนดกลยุทธ์ให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจและชี้นำการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน/โครงการ ของหน่วยงานภาครัฐเพื่อวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ในส่วนประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นรายใหญ่บางรายตัดสินใจเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สศอ. ได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เห็นลู่ทางหรือมีทางเลือกที่เหมาะสมในเรื่อง รูปแบบการลงทุน การร่วมทุน การหาพันธมิตร พร้อมคู่มือแนวปฏิบัติ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเคลื่อนย้ายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการส่งท้าย คือ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเส้นใยต้นแบบและการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค ซึ่งจะเป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และสร้างความหลากหลายให้วัสดุเส้นใยเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรอย่างใกล้ชิด อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรจากการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์สร้างงานสร้างรายได้อย่างครบวงจร
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--