สศอ.พลิกศักยภาพผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยหวังเป็น “โปรดักส์ แชมป์เปี้ยน”เพื่อการส่งออกระดับโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 12, 2013 14:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. เร่งดำเนินโครงการศึกษาศักยภาพชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ที่เป็น Product Champion ของไทยที่มีความเฉพาะใน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รถปิกอัพ 1 ตัน, รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) และรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กคุณภาพสูง หวังส่งเสริมให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยมีการพัฒนาคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกยานยนต์และได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นฐานการผลิตที่ติดระดับโลกของยานยนต์ที่มีความเฉพาะ (Product Champion) ใน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รถปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) และ รถจักรยานยนต์ขนาดเล็กคุณภาพสูง รวมทั้ง มีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังตลาดที่เข้มงวดในเรื่องมาตรฐานสินค้า เช่น ประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอเมริกา จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยมีการพัฒนาคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ (Accessories) หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “อุปกรณ์ประดับยนต์” นั้น เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งเพื่อจุดประสงค์หลากหลาย เช่น เพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ (Performance) เพิ่มความสะดวกในการขับขี่ (Comfort/Utility) หรือ ตกแต่งให้เกิดความสวยงามตามรสนิยมของผู้ใช้รถยนต์ (Appearance) อุปกรณ์เหล่านี้มิใช่อุปกรณ์แบบมาตรฐานที่ติดตั้งมาจากโรงงานประกอบรถยนต์ อีกทั้ง มิใช่อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามอายุการใช้งาน แต่เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ใช้รถยนต์จะเปลี่ยนตามความต้องการหรือรสนิยมของตนเอง เรามองว่า มูลค่าทางการตลาด มูลค่าเพิ่ม และโอกาสของอุปกรณ์ประดับยนต์เหล่านี้สูงมาก ผมขอยกตัวอย่างชิ้นส่วนไฟหน้า ที่มีการจำหน่ายในประเทศไทยนั้น หากขาย OEM จะมีราคาประมาณ 800-2,000 บาท ถ้าขายตลาด REM จะมีราคาประมาณ 2,200-3,000 บาท แต่ถ้าขายในตลาดอุปกรณ์ประดับยนต์ จะมีราคาสูงถึง 3,000-5,000 บาท”

ดังนั้น สศอ. จึงได้เร่งดำเนินโครงการศึกษาศักยภาพชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ที่เป็น Product Champion ของไทย โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพื่อตอบสนองความต้องการทางการตลาดให้กับชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น

ดร.สมชายฯ กล่าวอีกว่า “เมื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกแล้ว ได้มีการจัดทำ Focus Group โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ในองค์กรข้ามชาติ หรือองค์กระดับชาติ มาดำเนินการให้ค่าถ่วงน้ำหนัก และกำหนดระดับคะแนน เพื่อหาคะแนนรวมซึ่งผลปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษา ประกอบด้วย

ชิ้นส่วนประกอบสำหรับรถปิกอัพ 1 ตัน ได้แก่ 1) ล้ออะลูมิเนียมอัลลอย 2) จานเบรกและคาลิเปอร์ 3) ชุดท่อไอดีและกรองอากาศ 4) พรมและผ้ายางปูพื้น

ชิ้นส่วนประกอบสำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ Eco car ได้แก่ 1) สเกริต สปอยเลอร์ กันชน และ บังลม บังแดด กระจกข้างประเภทคาร์บอนคอมโพสิท 2) ซันรูฟ 3) หุ้มเบาะและหุ้มต่างๆ

ชิ้นส่วนประกอบสำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กคุณภาพสูง ได้แก่ 1) หมวกกันน๊อค 2) งานพลาสติกตกแต่งตัวถังรถ (ครอบเครื่องยนต์และครอบท่อประเภทคาร์บอนคอมโพสิท) 3) โคมไฟส่องสว่าง

หลังจากที่คัดเลือกชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ที่มีศักยภาพได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการวิเคราะห์สถานภาพของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในตลาดส่งออกหลัก รวมถึง วิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และยังได้มีการจัดทำคู่มือทางการตลาดเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยอีกด้วย”

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ