ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับ GDP ภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/56 หดตัวร้อยละ 0.4 เป็นผลจากการส่งออกที่ลดลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ขณะที่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการผลิตลดลงเนื่องจาก ความต้องการในประเทศลดลง ประกอบกับฐานที่สูงในปีที่แล้ว จากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก ส่วนดัชนีอุตสาหกรรม 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2556) ลดลง 2.9%
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนพฤศจิกายน หดตัวลดลง 10.6% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.14% โดยภาพรวมสิ้นสุด 11 เดือนของปี 2556 หดตัวลง 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 64.77% เป็นผลมาจากการลดลงของการผลิตรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง
ภาวะการผลิตรายอุตสาหกรรมของปี 2556 ที่สำคัญ มีดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ 11 เดือนแรกปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 4.09 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณการ ส่งออกขยายตัวไปประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.13 แต่การจำหน่ายในประเทศลดลง ร้อยละ 5.36 แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2557 การผลิตจะมีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,600,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75 แบ่งเป็นการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศประมาณ 1,300,000 คัน ลดลงร้อยละ 0.69 และการส่งออกรถยนต์ประมาณ 1,300,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.97
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาพรวม 11 เดือนแรกปี 2556 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.71 จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ/
โน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลงอย่างมาก สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.05 โดยส่วนใหญ่เป็น
กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มี การปรับตัวลดลง ส่วนแนวโน้มปี 2557 ในภาพรวมคาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-3
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทย 11 เดือนของปี 2556 ขยายตัว ร้อยละ 5.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตชะลอตัวลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.96 โดยเป็นผลมาจากตลาดเหล็กในประเทศช่วงครึ่งหลังของปี 2556 มีทิศทางที่ทรงตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล บรรจุภัณฑ์ ในปี 2557 คาดการณ์ว่าแนวโน้มระดับความต้องการใช้เหล็กของไทย จะเผชิญกับความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจมหภาค ของประเทศสถานการณ์ทางการเมือง และแนวโน้มตลาดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภาพรวม 11 เดือนของปี 2556 ขยายตัวได้ดีทั้งการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก ส่งผลให้การนำเข้าเส้นใยสิ่งทอฯ ปรับลดลง สำหรับในกลุ่มผ้าผืน ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าผ้าผืนราคาถูกจากจีน และในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ส่วนแนวโน้มปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวได้ในส่วนของการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน เพื่อสนองความต้องการโดยเฉพาะผู้ผลิตในอาเซียน และญี่ปุ่น ส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป การผลิตจะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2556
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารของปี 2556 การผลิตในภาพรวมคาดว่าปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.1 ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 6.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ส่วนแนวโน้มปี 2557 คาดว่า ในภาพรวมการผลิตจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1-2
2555 2556 ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค . ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 178.46 192.62 179.72 180.63 174.17 199.55 162.98 179.25 180.94 174.27 173.86 172.76 171.26 172.19 อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % 0.3 7.9 -6.7 0.5 -3.6 14.6 -18.3 10.0 0.9 -3.7 -0.2 -0.6 -0.9 0.5 อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) % 35.9 81.3 22.7 10.1 -1.2 0.8 -3.9 -7.5 -3.2 -4.9 -2.8 -2.9 -4.0 -10.6 อัตราการใช้กำลังการผลิต % 67.81 68.35 63.62 67.15 63.43 71.56 60.37 66.85 64.93 64.54 63.50 63.58 63.46 63.14
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--