สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 10, 2014 16:01 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ระดับ 172.19 หดตัวร้อยละ 10.6 การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เบียร์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดย MPI หดตัวเป็นเดือนที่แปดติดต่อกัน สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายนหดตัวร้อยละ 4.8 ทั้งนี้เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่หกในรอบเจ็ดเดือน ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเมื่อไม่รวมทองคำแท่งหดตัวร้อยละ 3.5

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ระดับ 172.19 หดตัวร้อยละ 10.6 การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เบียร์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดย MPI หดตัวเป็นเดือนที่แปดติดต่อกัน ทำให้ MPI ในช่วง 11 เดือนแรก ปี 2556 หดตัวร้อยละ 2.9

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนพฤศจิกายน 2556 อยู่ที่ร้อยละ 63.14 จากร้อยละ 63.46 ในเดือนตุลาคม 2556 และร้อยละ 68.35 ในเดือนพฤศจิกายน 2555

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

หมายเหตุ

1 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

2 อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2556 หดตัวร้อยละ 4.8 ทั้งนี้เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่หกในรอบเจ็ดเดือน ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเมื่อไม่รวมทองคำแท่งหดตัวร้อยละ 3.5

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(พฤศจิกายน 2556)

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน 2556 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.4 สินค้าสำคัญ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 21.3 56.1 และ 39.0

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าลูกไม้และยางยืด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดภายในประเทศลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องนอนและผ้าขนหนู มีการผลิตเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อจากอากาศที่หนาวกว่าทุกปีและเพื่อเป็นของฝากของที่ระลึกในช่วงปีใหม่

ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.5

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ 4.73 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 13.73 แต่เหล็กทรงยาวกลับมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.28 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงพฤศจิกายน 2556 เทียบกับเดือนก่อนพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งแบน เหล็กแท่งเล็ก Billet แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาทรงตัว คือ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน มี ยกเว้นเหล็กแผ่นรีดเย็น ที่มีดัชนีราคาเหล็กลดลง

สำหรับแนวโน้มราคาสินแร่เหล็กในปี 2557 นี้ ทาง Union Bank of Switzerland (UBS) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของโลกประเมินว่า ราคาสินแร่เหล็กปัจจุบันค่อนข้างมีความเสี่ยงต่อการปรับลดลงโดยในช่วงไตรมาสที่ 1 นี้หากปริมาณการผลิตเหล็กเริ่มถูกปรับลดลง จะส่งผลให้ราคาสินแร่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ ทาง UBS คาดการณ์ราคาเฉลี่ยสินแร่เหล็กว่าจะปรับลดลงจาก 123 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันในปีนี้ลงไปสู่ระดับ 106 และ 95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันในปี 2557 และ2558 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 182,818 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีการผลิต 256,581 คัน ร้อยละ 28.75 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนตุลาคม 2556 ร้อยละ 1.24 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับการส่งออก มีจำนวน 96,006 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีการส่งออก 100,225 คัน ร้อยละ 4.21 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย และแอฟริกา

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การผลิต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 10.19 โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 9.75 เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นและตลาดส่งออกชะลอตัว

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก HDD ที่ปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 12.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ HDD ของโลกลดลงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการคอมพิวเตอร์/โน๊ตบุ๊ค ลดลง รวมถึงส่วนหนึ่งมาจากการลดการผลิตลงของบริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขายเทคโนโลยีการผลิตบางส่วนให้กับบริษัท โตชิบา สตอเรจดีไวส์ (ประเทศไทย) จำกัด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ