- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2557 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 0.4 แต่ลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 61.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.9 ในเดือนธันวาคม 2556
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2557
- การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะชะลอตัวตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ ประกอบกับปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประชาชนลดลงทำให้การจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนระมัดระวังมากขึ้น
- สำหรับการส่งออกคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในทิศทางบวกและจะสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นตามกรอบความร่วมมือสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น แม้ว่าญี่ปุ่นจะปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมากนัก
- ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 0.37 จากการชะลอการใช้จ่าย
ของผู้บริโภคในประเทศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.14 เนื่องจากเศรษฐกิจในตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวด้วย
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ม.ค. 57 = 169.1
ธ.ค. 56 = 168.3
โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่
- น้ำตาล
- เครื่องปรับอากาศ
- เม็ดพลาสติก
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
ม.ค. 57 = 61.8
ธ.ค. 56 = 59.9
โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่
- เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
- โทรทัศน์สี
- น้ำตาล
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2557 มีค่า 169.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2556 (168.3) ร้อยละ 0.4 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมกราคม 2556 (180.6) ร้อยละ 6.4
- อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2556 ได้แก่ น้ำ ตาล เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น
- อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 61.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2556 (ร้อยละ 59.9) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมกราคม 2556 (ร้อยละ 67.2)
- อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2556 ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โทรทัศน์สี น้ำตาล เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง อาหารสัตว์สำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ เป็นต้น
ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง และจะทำให้ประชาชนลดการจับจ่าย
1. การผลิต
ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือน,มกราคม 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.2 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.9 แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 18.1 53.1 และ 33.8 ตามลำดับ และหากเทียบกับเดือนก่อนการผลิตปรับตัวลดลง เช่น แป้งมัน สำปะหลัง ร้อยละ 6.5
กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 6.0 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 22.9 ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 48.9 จากการปรับลดการผลิตตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่วนอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.4 เป็นผลจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลง จากโรงงานชะลอการแปรรูปตามการเลี้ยงไก่ที่ปรับลดลง
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ เดือนมกราคม 2557 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 เป็นผลจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคลดลง สืบเนื่องจากเกิดความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง แต่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 6.4 เนื่องจากรองรับเทศกาลตรุษจีนช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมกราคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.2 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ปรับลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 ตามคำสั่งซื้อที่ปรับตัวลดลง ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงจากปีก่อนจากราคาในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงหลังสต๊อกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น
3. แนวโน้ม
การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับข่าวการปรับลดระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจส่งผลทางจิตวิทยาด้านลบไปยังเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงซบเซา ทำให้แนวโน้มของ คำสั่งซื้อปรับชะลอตัว แม้ว่าค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจลดลงและประชาชนลดการจับจ่าย
“การที่ญี่ปุ่นจะปรับภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 3 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไม่มากนัก”
1. การผลิต
ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯและผ้าผืน ลดลงร้อยละ 0.5 และ 1.2 ตามลำดับและเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตลดลงเช่นกันในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืนผ้าขนหนูและเครื่องนอน และสิ่งทออื่น ๆ (ผ้าลูกไม้และยางยืด) ร้อยละ 3.7 5.8 4.3 และ 2.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดภายในลดลงประกอบกับความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง ส่งผลให้การชะลอตัวในภาคการผลิต
ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนการผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และ 4.8 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักกลับ ลดลงร้อยละ 7.0 สวนทางกับการผลิตเสื้อผ้าทอที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นผลจากตลาดสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวในขณะเดียวกับตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวเช่นเดียวกัน
2. การจำหน่าย
ปริมาณการจำหน่ายภายในประเทศของผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงในผลิตภัณฑ์ผ้าขนหนูและเครื่องนอนและผ้าผืน สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเสื้อผ้าทอลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากตามความต้องการใช้ที่ลดลง และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง
การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมมีมูลค่าลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนโดยกลุ่มสิ่งทอมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 3.9 จากคำสั่งซื้อผ้าผืนของเวียดนามลดลง สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.1จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 13.1 และ 8.3ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกในภาพรวมลดลงเช่นกัน ร้อยละ 1.3 โดยกลุ่มสิ่งทอมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 3.3 จากการส่งออกผ้าผืนไปเวียดนามลดลงมาก แต่ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มยังขยายตัวได้ ร้อยละ 1.6 จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ร้อยละ 18.1และ 0.6 ตามลำดับ
3. แนวโน้ม
การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะชะลอตัวตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ ประกอบกับปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้ออาจส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประชาชนลดลงทำให้การจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนระมัดระวังมากขึ้น สำหรับการส่งออกคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นในทิศทางบวกและจะสามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นตามกรอบความร่วมมือสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น แม้ว่าญี่ปุ่นจะปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมากนัก
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ประกาศเปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ 27มกราคม 2557 โดยคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องตามพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ว่า คำขอของ บมจ. สหวิริยาสตีลอินดัสตรี บมจ. จี สตีล บมจ. จี เจ สตีล และ บมจ. สหวิริยา เพลทมิล ที่ได้ยื่นขอให้พิจารณากำหนดมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ (ความหนา 0.9-50.0 มม. และความกว้าง 600-3,048 มม.) ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้น ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่ เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 มีหลักฐานและข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน จึงเห็นควรให้เปิดการไต่สวน
1.การผลิต
สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมกราคม 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 119.17 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.05 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเหล็กทรงยาวมี การผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.69 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดได้แก่ ลวดเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.77 รองลงมาคือ เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.33 เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างในส่วนของภาคเอกชนยังคงมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนที่คึกคักตามแนวชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้การลงทุนก่อสร้างในกลุ่มอาคารพาณิชย์ยังคงเติบโตต่อไป สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ ร้อยละ 0.47 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.61 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.48 เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องยังขยายตัวได้ดีในตลาดต่างประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 12.0 เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศ ทำให้ชะลอการลงทุนและการจับจ่าย โดยเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 18.90 แต่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 3.69
2.ราคาเหล็ก
จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนมกราคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจาก 118.60 เป็น 120.47 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.58 เหล็กแผ่รีดร้อน จาก 112.41 เป็น 112.82 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.36 ในขณะที่เหล็กแผ่นรีดเย็นทรงตัว ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาที่ลดลง ได้แก่ เหล็กเส้น ลดลงจาก 118.72 เป็น 117.02 ลดลง ร้อยละ 1.43 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 118.35 เป็น 116.94 ลดลง ร้อยละ 1.19 สำหรับราคาสินแร่เหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะยังคงไม่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการบริโภคของประเทศจีน เนื่องจากจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก (คิดเป็นร้อยละ 60 ของการซื้อขายที่ขนส่งทางทะเล) ปริมาณการบริโภคของจีนจึงมีผลกระทบต่อระดับราคาในตลาดโลก ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าของจีน (CISA) ขณะนี้พบว่า ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ๆในประเทศมีปริมาณแร่เหล็กโดยรวมสะสมถึง 16,328,400 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.02 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาราคาผลิตภัณฑ์เหล็กลดลง คำสั่งซื้อลดลง และปัญหาความยากลำบากในการขนส่งสินค้าในช่วงฤดูหนาว ทำให้สต๊อกสินค้าเหล็กเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งในช่วงต้นกุมภาพันธ์มีวันหยุดยาว คือ เทศกาลตรุษจีน ทำให้การผลิตและการซื้อขายได้หยุดชะงักไปช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วยเหตุเหล่านี้น่าจะส่งผลให้ตลาดเหล็กของจีนในปี 2557 ต้องเผชิญกับการระบายสต๊อกสินค้าเป็นจำนวนมาก และคาดว่าจะส่งผลกระทบมาถึงตลาดเหล็กของไทยด้วย
3. แนวโน้ม
สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เทียบกับเดือนก่อนคาดว่าการผลิตเหล็กทรงยาวจะยังคงเพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงฤดูแล้งที่เหมาะกับการก่อสร้าง ส่วนเหล็กทรงแบนจะขยายตัวในส่วนของเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องยังเติบโตได้ดี
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากการลดลงของตลาด ในประเทศและตลาดส่งออก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม ดังนี้
1. การผลิตรถยนต์
จำนวน 162,652 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 236,025 คัน ร้อยละ 31.09 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 2.37 โดยเป็นการ เพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน
2. การจำหน่ายรถยนต์
จำนวน 68,508 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 124,649 คัน ร้อยละ 45.04 โดยเป็นการปรับลดลงของการ จำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 39.86 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV
3. การส่งออกรถยนต์
จำนวน 81,025 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก87,062 คัน ร้อยละ 6.93 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย และโอเชียเนียและมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 7.89 ซึ่งลดลงในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกากลางและอเมริกาใต้
4. แนวโน้ม
ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2557 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจาก สถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 47 และส่งออกร้อยละ 53
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากการลดลงของตลาด ในประเทศเป็นสำคัญ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม ดังนี้
1. การผลิตรถจักรยานยนต์
จำนวน 139,063 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2556 ซึ่งมีการผลิต193,503 คัน ร้อยละ 28.13 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิต รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 3.34 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว
2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์
จำนวน 125,603 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 180,253 คัน ร้อยละ 30.32 โดยเป็นการปรับลดลงของการ จำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 0.98 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์
3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)
จำนวน 25,063 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 23,445 คัน ร้อยละ 6.90 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย แคนาดา และฟิลิปปินส์ และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 11.44 โดยเป็นการลดลงในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม
4. แนวโน้ม
ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2557 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 88 และส่งออกร้อยละ 12
“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีการผลิตปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทย”
การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
ในเดือนมกราคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.92 และ 9.64 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.96 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 0.13
เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ดี โดยมีปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากช่วงต้นปีของทุกปีเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้างนอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกก็มี ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้นเช่นกัน
การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนมกราคม 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.78 ในขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.46
เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากไทยมีการผลิตปูนซีเมนต์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยต้องการรักษาตลาดส่งออกของไทยไว้ เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกปูนซีเมนต์ได้ในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งอาจทำให้ไทยเสียตลาดได้ในอนาคต
แนวโน้ม
การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงต้นปีของทุกปีเป็นช่วงที่ ไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง ถึงแม้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สงบจะส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคก่อสร้างบ้างเล็กน้อยก็ตาม โดยมาตรการ ลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยหรือทรงตัว ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าไทยจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้นแต่ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกได้ต่อไป
ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมกราคม 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงเล็กน้อยจากกชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ แต่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและอาเซียนที่มีการขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ม.ค. 2557
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า (ล้านเหรียญฯ) %MoM %YoY อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ 1,461.40 2.70 3.00 วงจรรวมและไมโครแอส แซมบลี 517.79 -27.75 -0.25 เครื่องปรับอากาศ 352.57 31.81 17.38 กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ 132.44 -8.76 -4.40 รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 4,227.20 -1.33 2.23 ที่มา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมกราคม 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 268.82 ลดลงร้อยละ 2.45 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 140.93 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.91 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ลดลงร้อยละ 1.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มีการปรับตัวลดลง เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน ลดลงร้อยละ 22.80 23.35 และ 12.07 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ ยูนิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.36 และ 27.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของโครงการบ้าน/คอนโดมิเนียมในประเทศ และการส่งออกไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกามีการขยายเพิ่มขึ้น รวมถึงสายไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่ภาครัฐมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 341.36 ลดลงร้อยละ 7.34 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่ม Monolithic IC , Semiconductor และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.93 7.33 และ 3.84 เมื่อเทียบกับปีก่อนตามลำดับ เนื่องจากส่งออกไปตลาดอาเซียน สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
2. การส่งออก
มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมกราคม 2557 มีมูลค่า 4,227.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.33 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,787.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.87 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตลาดหลักเกือบทุกตลาดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.35 16.84 8.21 และ 5.16 ตามลำดับ ยกเว้น จีน ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 26.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศมีมูลค่าส่งออก 352.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.81 เมื่อเทียบกับ เดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนรองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 132.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.76 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 4.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,439.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.82 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่ปรับตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและอาเซียน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.48 12.66 และ 6.48 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกไปจีนลดลงมากถึงร้อยละ 26.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์ เพื่อส่งออกไปตลาดโลก ซึ่งขณะนี้ความต้องการชะลอตัวลงมาก
3. แนวโน้ม
ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกุมภาพันธ์ 2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย อุตสาหกรรมไฟฟ้าจะลดลงร้อยละ 0.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจในตลาดหลักเริ่มฟื้นตัว
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--