ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับ 169.1 ลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2557 หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.8 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งหดตัวร้อยละ 3.7
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ระดับ 169.1 ลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เครื่องประดับเพชรพลอย
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต เดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ร้อยละ 61.76 จากร้อยละ 59.9 ในเดือนธันวาคม 2556 และร้อยละ 67.15 ในเดือนมกราคม 2556
เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2557 หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.8 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งหดตัวร้อยละ 3.7
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมกราคม 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.2 กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 18.1 53.1 และ 33.8 ตามลำดับ กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงร้อยละ 6.0 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และสิ่งทออื่น ๆ (ผ้าลูกไม้และยางยืด) ร้อยละ 3.7 5.8 4.3 และ 2.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดภายในลดลงประกอบกับความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองส่งผลให้การชะลอตัวในภาคการผลิต
การผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าถักลดลงร้อยละ 7.0 สวนทางกับการผลิตเสื้อผ้าทอที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นผลจากตลาดสหรัฐอเมริกาเริ่มฟื้นตัวในขณะเดียวกับตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นก็เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวเช่นเดียวกัน
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 12.0 เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในประเทศ ทำให้ชะลอการลงทุนและการจับจ่าย โดยเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 18.90 แต่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 3.69 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือน มกราคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งแบน(Slab) เหล็กแผ่นรีดร้อน ในขณะที่เหล็กแผ่นรีดเย็นทรงตัว ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาที่ลดลง ได้แก่ เหล็กเส้น และเหล็กแท่งเล็ก Billet
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 162,652 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2556 ซึ่งมีการผลิต 236,025 คัน ร้อยละ 31.09 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2556 ร้อยละ 2.37 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน สำหรับการส่งออก มีจำนวน 81,025 คัน ลดลงจาก เดือนมกราคม 2556 ซึ่งมีการส่งออก 87,062 คัน ร้อยละ 6.93 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย และโอเชียเนีย
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 1.01 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มีการปรับตัวลดลง เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อนลดลงร้อยละ 22.80 23.35 และ 12.07 ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดน ซิ่งยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.36 และ 27.64
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่ม Monolithic IC , Semiconductor และ HDD เนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--