สศอ. เผยผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ปี 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 21, 2014 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบที่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมได้รับจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นมีผู้ประกอบการ 86.0% ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนผู้ประกอบการอีก 14.0% ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง 56.6% เห็นว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจตนไม่มากนัก โดยผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับคือ ลูกค้าลดคำสั่งซื้อเนื่องจาก ขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจ คิดว่าธุรกิจไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ การติดต่อหรือขอเอกสารจากหน่วยงานราชการมีความล่าช้า รวมถึงมีการผลิต การจำหน่าย และการส่งออกที่ลดลง ตามลำดับ อย่างไรก็ตามถ้าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อต่อเนื่องจะมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยถ้าสามารถยุติปัญหาได้ในปลายไตรมาสแรก จะมีผู้ประกอบการประมาณ 52.7% ที่คาดว่าปริมาณการผลิตในปี 2557 จะลดลง โดยคาดว่าปริมาณการผลิตจะลดลงเฉลี่ย 11.2% จากปี 2556 แต่ถ้าความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อต่อไป แต่สามารถยุติในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 2 3 หรือ 4 จะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่คาดว่าการผลิตสินค้าในปี 2557จะลดลงนั้น เพิ่มเป็น 71.3% 84.0% และ 85.3% ตามลำดับ และคาดว่าปริมาณการผลิตปี 2557 จะลดลงเฉลี่ยเท่ากับ 14.4% 18.8% และ 27.2% ตามลำดับ

สำหรับความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าในประเทศและการส่งออกพบว่า การจำหน่ายสินค้าในประเทศมีจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าการส่งออกเล็กน้อย โดยถ้าสามารถยุติปัญหาได้ในปลายไตรมาสแรก จะมีจำนวนผู้ประกอบการประมาณ 58.8% ที่คาดว่ายอดขายในประเทศปี 2557 จะลดลง โดยคาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 10.6% จากปี 2556 และมีจำนวนผู้ส่งออกประมาณ 57.7%ที่คาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงในปี 2557 โดยคาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 9.0%จากปี 2556 อย่างไรก็ตามถ้าความขัดแย้งทางการเมืองยังคงยืดเยื้อต่อไป แต่สามารถยุติได้ในสิ้นไตรมาส 2 3 และ 4 จะส่งผลให้มีผู้ประกอบการประมาณ 71.1% 85.6% และ 86.7% ตามลำดับ ที่คาดว่ายอดขายในประเทศปี 2557 จะลดลง โดยคาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 14.2% 18.8% และ 27.9% ตามลำดับ และมีจำนวนผู้ส่งออกประมาณ 65.4% 80.8% และ84.6% ตามลำดับ ที่คาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงในปี 2557 โดยคาดว่าจะลดลงเฉลี่ย 13.8% 18.6% 26.3% ตามลำดับ

ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้มีการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกลดลงเกิดจากคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่ลดลง เนื่องจาก ลูกค้าไม่เชื่อมั่นในธุรกิจ ลูกค้าไม่เชื่อว่าจะส่งสินค้าได้ กำลังซื้อลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ลูกค้าเปลี่ยนไปซื้อกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ไม่ได้รับผลจากการเมือง วัตถุดิบหายาก และ

การขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับราชการล่าช้า ส่วนด้านการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนั้นจากผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในประเทศ 58.9% และผู้ส่งออกประมาณ 63.3% มีแผนปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการเร่งขยายตลาด และเพิ่มฐานลูกค้าทดแทนลูกค้าที่หายไป ลดตันทุนการผลิตเพื่อรับมือเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว เร่งสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจกับลูกค้า ศึกษาเส้นทางขนส่งเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม และการติดต่อเรื่องเอกสารกับหน่วยงานราชการล่วงหน้า

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ