MPI เดือน ก.พ. 2557 หดตัว 4.4% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.18%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2014 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัว 4.4% อุตสาหกรรมที่ทำให้
ลดลง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เป็นต้น ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.18%

ดร. วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2557 หดตัวร้อยละ 4.4 ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 59.18 จากการลดลงของการผลิตจากการลดลงของการผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรายเดือน กุมภาพันธ์ 2557 สาขาที่สำคัญ มีดังนี้

อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ผู้ประกอบการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่เป็นผลมาจากนโยบายรถยนต์คันแรก ทำให้มีฐานที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับในปีนี้ประชาชนมีความกังวลกับสถานการณ์ทางการเมือง การผลิตรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ปี 2557คาดว่า มีจำนวน 171,000คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 25.39

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 1.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 2.12 โดยมาจากฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปรับตัว ลดลงร้อยละ 4.68 อย่างไรก็ตาม Semiconductor, Monolithic IC เพิ่มขึ้นเนื่องจากมี การนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart Phone ที่มีการขยายตัว อย่างต่อเนื่อง และในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเพิ่ม การใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอื่นๆ ปรับตัวลดลง เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เครื่องรับโทรทัศน์ โดยมาจากภาคครัวเรือนในประเทศที่มีการชะลอการใช้จ่าย อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตลดลง ในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ จากคำสั่งซื้อเพื่อผลิตในผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะตลาดอาเซียน สำหรับกลุ่มผ้าผืน

การผลิตขยายตัวจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศกัมพูชาที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย เนื่องจากยังขาดการพัฒนาสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ ในส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากตลาดสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัว ในขณะเดียวกันตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.5 ส่วนการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 6.0 เนื่องจาก การผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตสินค้าสำคัญส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรค ประกอบกับสินค้าหลายชนิดได้รับผล จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ได้ลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบจากความผันผวนของระดับ ราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจและข่าวการแก้ไขวิกฤตการณ์การเงินและเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรป ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลก มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 มีปริมาณ 1.56 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 3.77 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การผลิตมีปริมาณ 0.64 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 10.89 เนื่องจากเอกชนชะลอการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพราะรอดูทิศทางทางการเมือง สำหรับ การลงทุน 2 ล้านล้านบาทยังไม่มีผลกระทบ แต่ในระยะยาวกระทบเหล็กก่อสร้างแน่นอน เพราะความต้องการใช้เหล็กลดลง

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

             Index                2556                                                                                                                          2557
                                  ม.ค.      ก.พ.       มี.ค.     เม.ย.      พ.ค.      มิ.ย.      ก.ค.      ส.ค.      ก.ย.      ต.ค.      พ.ย.      ธ.ค.      ม.ค.      ก.พ.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม               180.63    174.17     199.55    162.98    179.25    180.94    174.27    173.86    172.76    171.26    171.94    168.32    170.53    166.48
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %           0.5      -3.5       14.5     -18.3       9.9       0.9      -3.6      -0.2      -0.6      -0.8       0.4      -2.1       1.3      -2.4
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %          10.1      -1.2        0.7      -3.9      -7.4      -3.2      -4.9      -2.8      -2.8      -4.0     -10.7      -6.3      -5.6      -4.4
อัตราการใช้กำลังการผลิต %            67.15     63.43      71.56     60.40     66.85     64.93     64.54     63.50     63.58     63.46     63.07     59.90     62.12     59.18

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ