ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 166.5 ลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.42 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 3.64
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 166.5 ลดลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเล กระป๋องและแช่แข็ง
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนกุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 59.18 จากร้อยละ 62.12ในเดือนมกราคม 2557 และร้อยละ 63.43 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556
เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.42 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 3.64
อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.7 กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 12.7 42.2 และ 30.9 ตามลำดับ กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงร้อยละ 5.9 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงร้อยละ 2.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดภายในลดลงประกอบกับความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง อย่างไรก็ตาม การผลิตผลิตภัณฑ์ผ้าผืนและผ้าลูกไม้และยางยืดขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสิ่งทอจากไทย
การผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าถักลดลงร้อยละ 7.8 สวนทางกับการผลิต เสื้อผ้าทอที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.1 ซึ่งเป็นผลจากตลาดสหรัฐอเมริกา เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2557เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.49 เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยังคงมีความขัดแย้งและเกิดเหตุความรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว โดยเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 12.00 แต่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.77 เพราะการก่อสร้างในโครงการต่อเนื่องของภาครัฐและภาคเอกชนยังคงมีอยู่ ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น ส่วนผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีดัชนีราคาที่ลดลง ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแท่งเล็ก Billet เหล็กแท่งแบน และเหล็กแผ่นรีดร้อน
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 173,506คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการผลิต 229,204 คันร้อยละ 24.30 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2557 ร้อยละ 6.67โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน สำหรับการส่งออก มีจำนวน 97,171 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งมีการส่งออก 96,678 คัน ร้อยละ 0.51 ซึ่งเพิ่มขึ้นในประเทศแถบอเมริกากลาง และอเมริกาใต้
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตลดลงร้อยละ 0.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง ยูนิต และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.17 และ 27.58 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้น ประกอบกับการส่งออกมีการขยายตัว เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาเซียนและสหภาพยุโรป รวมถึงสายไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีการปรับปรุงระบบสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้มีความต้องการสายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมีการปรับตัวลดลง เช่น ตู้เย็น หม้อหุงข้าวเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 19.77 21.58 และ 6.99 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 2.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก HDDปรับตัวลดลงร้อยละ 4.68 เพราะความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตามในส่วนของ Semiconductor,Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.67 16.89 และ 4.74 ตามลำดับ เนื่องจากมีการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนในสมาร์ทโฟนที่มีความ ต้องการเพิ่มมากขึ้น และเป็นชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--