สศอ.ผลักดันโครงการอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากช่วยลดต้นทุนได้กว่า 300 ล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 28, 2014 14:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สนับสนุนโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเพิ่ม Productivity ได้ถึง 24 โรงงานช่วยลดต้นทุนได้กว่า 300 ล้านบาท และพัฒนาโรงงานจำนวน 81 ราย ให้พร้อมขอรับการรับมาตรฐาน ISO 13485 หวังสร้างผลิตภัณฑ์นำร่องกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐานโลก เตรียมพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยในอนาคต มีเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่สำคัญในอาเซียนภายในปี 2563 โดยเน้นผลิตสิค้าที่มีนวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลด้วยราคาที่เหมาะสม แทนการนำเข้าสินค้าที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมในประเทศเชื่อมต่อเครือข่ายกับ Supply Chain ของโลก โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ดำเนินโครงการนำร่อง จำนวน 3 โครงการ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สร้างกระแสการตื่นตัวให้กับทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งทั้ง 3 โครงการนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีแผนที่จะผลักดันงบประมาณโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และจะเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ และการแก้ไขกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่างๆ เป็นต้น ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ในปี 2555-2556 จำนวน 3 โครงการ โดยแต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ดังนี้

1. โครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพด้านการเพิ่ม Productivity และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 โดยพัฒนาผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการบริหารจัดการและการผลิต ให้กับโรงงานทั้งสิ้นจำนวน 24 โรงงาน ผลจากการดำเนินงานสามารถขยายผลในการลดต้นทุนคิดเป็นมูลค่ากว่า 296 ล้านบาท สำหรับในส่วนของการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 นั้น มีโรงงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 81 โรงงาน โดยมีความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานแล้ว จำนวน 50 โรงงาน

2. โครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยตลอด 2 ปี ที่ผ่านมาโครงการนี้ได้ช่วยยกระดับศักยภาพในการออกแบบ และนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทยให้สูงขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมจำนวน 29 ผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมได้มากกว่า 300 ล้านบาท

3. โครงการศึกษาวิจัยโอกาสทางธุรกิจและการเพิ่ม Value Creation สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีกิจกรรมที่ได้ดำเนินการคือ

  • การศึกษาแนวทางการสร้าง Value Creation และโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยได้ศึกษาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ และแนวทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
  • การจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐใช้ในการกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม
  • การจัดทำคู่มือแนวทางการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเชิงเทคนิคและวิศวกรรม เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผู้ที่มีส่วนในการจัดซื้อจัดจ้างได้พิจารณา

สำหรับการดำเนินงานในปี 2557 นี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้ดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อขยายผลการดำเนินการให้ครอบคลุมคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น โดยเพิ่มเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้

1) โครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพด้าน Productivity และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 ได้ขยายเป้าหมายโรงงานที่เข้าร่วมโครงการจากในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 50 โรงงาน

2) โครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ ขยายเป้าหมายผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 11 ผลิตภัณฑ์

3) โครงการศึกษาวิจัยโอกาสทางธุรกิจและการเพิ่ม Value Creation สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ จะปรับปรุงฐานข้อมูลเชิงลึก (Intelligence Unit) ให้มีความต่อเนื่องและสมบูรณ์มากขึ้น

ดร.สมชาย หาญหิรัญ กล่าวตอนท้ายว่า อยากฝากถึงภาคเอกชนให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการออกแบบและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสินค้าของตนให้มี Value Creation สูงขึ้น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการรักษาคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายคนยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและให้ความสำคัญน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันในอนาคต ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดมีความสนใจเข้าร่วมโครงการหรือมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สศอ. ได้โดยตรง ซึ่ง สศอ. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างเต็มที่

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ