อุตฯ ชี้ทิศทางดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (IEI) เดือน เม.ย.57 อยู่ที่ระดับ 36.36% สะท้อนภาวะภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 28, 2014 14:03 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ IEI ประจำเดือน เมษายน 2557 อยู่ที่ระดับ 36.36% สะท้อนภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยมีการชะลอตัวลงในทุกมิติทั้งการผลิต การลงทุน และความเชื่อมั่น และดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอุตสาหกรรมยังอยู่ต่ำกว่าระดับปกติ

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economic Indicator : IEI) ประจำเดือนเมษายน 2557 อยู่ที่ระดับ 36.36% ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งอยู่ ที่ระดับ 45.45% แสดงถึงภาวะชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม อันประกอบด้วยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต ดัชนีการประกอบกิจการโรงงานทั้งจำนวนโรงงาน จำนวนเงินทุน จำนวนแรงงาน และจำนวนแรงม้า ตลอดจนดัชนีขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งจำนวนโครงการ เงินลงทุน และการจ้างงาน นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอุตสาหกรรมยังอยู่ต่ำกว่าระดับปกติ และดัชนีชี้นำอุตสาหกรรมชี้ถึงทิศทางการหดตัวในอีก 1-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงที่สูง

ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า มิติด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม มีการชะลอตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต ทั้งนี้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2557 อยู่ที่ 156.63 หดตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ 12.27 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลด้านลบ ได้แก่ รถยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน HDD ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลด้านบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 56.58 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 64.46 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2556 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 56.58 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 64.46 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เช่น ยานยนต์ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ

ดร.ณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า มิติด้านการลงทุนภาคอุตสาหกรรมนั้น ดัชนีการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งจำนวนโรงงาน จำนวนเงินทุน จำนวนแรงงาน และจำนวนแรงม้า มีการชะลอตัว โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 92.44, 385.33, 85.92, 483.70 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการหดตัวร้อยละ 10.67, 9.89, 4.23, 36.01 ตามลำดับ ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานและจำนวนแรงม้ามากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์อโลหะ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเงินทุนและจำนวนแรงงานมากที่สุด

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า มิติด้านความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมนั้น ดัชนีขอรับการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว ทั้งจำนวนโครงการเงินลงทุนและการจ้างงาน โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 99.45, 99.60, 39.64 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการหดตัวร้อยละ 22.08, 70.44, 58.84 ตามลำดับ ทั้งนี้กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง รวมถึงกิจการอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นกิจการที่มีจำนวนโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด จำนวนกิจการละ 20 ราย ส่วนกิจการเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด จำนวน 12,275.70 ล้านบาท ขณะที่กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีจำนวนการจ้างงานมากที่สุด จำนวน 1,332 คน

อย่างไรก็ตาม ด้านดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังอยู่ต่ำกว่าระดับปกติ โดยอยู่ที่ระดับ 39.03 ซึ่งแสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง รวมถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 98.52 ซึ่งชี้ทิศทางไปที่การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมในอีก 1-3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน ถึง กรกฎาคม 2557) โดยตัวแปรทั้งหมดแสดงถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักลงทุนต่อภาคอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และความกังวลต่อปัญหาการเมือง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้น่าจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นในทางที่ดีขึ้นในทุกด้าน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะได้มีการติดตามการเคลื่อนไหวของตัวแปรต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ