รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 19, 2014 17:21 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนเมษายน 2557
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2557 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 12.3 และ ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน Hard Disk Drive
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนเมษายน 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 56.6 ลดลงจากร้อยละ 64.5 ในเดือนมีนาคม 2557

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนพฤษภาคม 2557

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า อาจชะลอตัวตามความต้องการใช้ในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
  • สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย และชุดกีฬา อาจขยายตัวได้ และเป็น ตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแฟนบอลที่คลั่งไคล้ในทีมที่ชอบ ในส่วนการส่งออก คาดว่า จะกระเตื้องในทิศทางบวกจากตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการส่งมอบชุดกีฬาเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมาถึงในไม่ช้า
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2557 จากแบบจำลอง ดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศที่สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อน จากกลุ่ม Semiconductor และ IC ที่เริ่มมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียน และญี่ปุ่น
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

มี.ค. 57 = 178.5

เม.ย. 57 = 156.6

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • น้ำตาล
  • เบียร์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

มี.ค. 57 = 64.5

เม.ย. 57 = 56.6

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • ผลิตภัณฑ์ยาง
  • น้ำตาล

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน 2557 มีค่า 156.6 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 (178.5) ร้อยละ 12.3 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนเมษายน 2556 (162.98) ร้อยละ 3.9

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 ได้แก่ ยานยนต์ น้ำตาล เบียร์ Hard Disk Drive เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน Hard Disk Drive เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนเมษายน 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 56.6 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 (ร้อยละ 64.5) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนเมษายน 2556 (ร้อยละ 60.4)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาล เส้นใยสิ่งทอ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2557

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 324 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 314 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 3.18 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 44,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 10,229 ล้านบาท ร้อยละ 339.35 และมีการจ้างงานจำนวน 8,811 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,078 คน ร้อยละ 44.97

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 361 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 10.25 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการลงทุน 29,190 ล้านบาท ร้อยละ 53.96 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,765 คน ร้อยละ 13.47

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนเมษายน 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 33 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดตักดินลูกรัง สำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 30 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนเมษายน 2557 คือ อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์นั่ง และรถยนต์บรรทุกเล็ก จำนวนเงินทุน 12,509 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายพลังไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 12,414 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนเมษายน 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตอาหารบรรจุในภาชนะที่ผนึกและห้องเย็น จำนวนคนงาน 1,500 คนรองลงมาคือ อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์นั่ง และรถยนต์บรรทุกเล็ก จำนวนคนงาน 1,147 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 83 ราย มากกว่าเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 54 ราย คิดเป็นร้อยละ 53.7 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,606 ล้านบาท มากกว่าเดือนมีนาคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,210 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 3,373 คน มากกว่าเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 1,294 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 63 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 31.75 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนเมษายน 2556 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 502.33 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างมากกว่าเดือนเมษายน 2556 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,881 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนเมษายน 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ และอุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ ทั้งสองอุตสาหกรรม จำนวน 11 โรงงานเท่ากัน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวน 5 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนเมษายน 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องคำนวณ เครื่องทำบัญชี เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เงินทุน 660 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ล้าง บด ย่อยพลาสติก จำนวน 351.96 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนเมษายน 2557 คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องคำนวณ เครื่องทำบัญชี เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 1,793 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 190 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม - เมษายน 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 399 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 692 โครงการ ร้อยละ 42.34 และมีเงินลงทุน 270,000 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 488,900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.77

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม - เมษายน 2557
การร่วมทุน                      จำนวน(โครงการ)      มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
1.โครงการคนไทย 100%                131                 46,600
2.โครงการต่างชาติ 100%               178                143,600
3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ          90                 79,900
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม - เมษายน 2557 คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 161,600 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 53,700 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารเดือนพฤษภาคม คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะปรับตัวลดลง จากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง ทำให้ ประชาชนลดการจับจ่าย

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนเมษายน 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 5.3 และ 19.3 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 13.9 33.6 และ 4.7 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในกุ้งและสับปะรดเป็นสำคัญ ส่วนปลาทูน่าแม้ว่าราคาจะปรับลดลง แต่ความต้องการของต่างประเทศยังชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 5.3 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง และปรับลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 29.2 หลังสิ้นสุดการอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มกึ่งใสเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันบริโภคในเดือนก่อน ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 45.2 สำหรับอาหารไก่ การผลิตชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.3 เป็นผลจากความต้องการใช้อาหารไก่ลดลง จากโรงงานชะลอการแปรรูปตามการเลี้ยงไก่ ที่ปรับลดลง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนเมษายน 2557 ปริมาณการส่งสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 14.5 และ 6.1 เป็นผลจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคลดลง สืบเนื่องจากเกิดความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง 2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนเมษายน 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.5 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท และปรับลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 20.0 ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงจากปีก่อนจากราคาในตลาดโลกและคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลงหลังสต๊อกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น

3. แนวโน้ม

การผลิตและส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง และค่าเงินบาทที่ทรงตัวในระดับเดียวกันกับเดือนก่อน สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจลดลงและประชาชนลดการจับจ่าย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย และชุดกีฬา อาจขยายตัวได้และเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแฟนบอลที่คลั่งไคล้ในทีมที่ชอบ ในส่วนการส่งออก คาดว่า จะกระเตื้องในทิศทางบวกจากตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการส่งมอบชุดกีฬาเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลก"

1. การผลิต

  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน ผ้าลูกไม้ และอื่น ๆ (ยางยืด) ลดลง ร้อยละ 9.1 7.9 11.3 11.3 และ 14.2 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าลูกไม้ ลดลง ร้อยละ 6.6 และ 10.0 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศลดลง ในขณะที่ การผลิตผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และอื่น ๆ (ยางยืด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.9 3.1 และ 11.3 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสิ่งทอจากไทย
  • ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนก่อน การผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ ลดลง ร้อยละ 17.8 และ 18.0 ตามลำดับ เนื่องจากวันทำงานน้อยจากการหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.4 และ 8.9 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก

2. การจำหน่าย

  • ปริมาณการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ลดลง และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และเสื้อผ้าถัก เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 โดยเฉพาะในกลุ่มชุดนักเรียน
  • การส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มสิ่งทอมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 10.6 ซึ่งเป็นการลดลงในผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และสิ่งทออื่น ๆ ในส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นผลจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 1.5 โดยเฉพาะในตลาดสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.7 เป็นผลจากมูลค่าเพิ่มขึ้นในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 9.7 ตามมูลค่าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ร้อยละ 3.8 0.5 และ 24.1 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า อาจชะลอตัวตามความต้องการใช้ในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าแฟชั่นที่สวมใส่สบาย และชุดกีฬา อาจขยายตัวได้ และเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแฟนบอลที่คลั่งไคล้ในทีมที่ชอบ ในส่วนการส่งออก คาดว่า จะกระเตื้องในทิศทางบวกจากตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการส่งมอบชุดกีฬาเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมาถึงในไม่ช้า

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของเดือนเมษายน 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.48 เป็นผลมาจากการปรับตัวของเหล็กแผ่นรีดเย็น แต่เหล็กทรงยาวลดลง ร้อยละ 5.55 เนื่องจากการลดลงของลวดเหล็กแรงดึงสูง

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนเมษายน 2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 118.78 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 13.87 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยกลุ่มเหล็กทรงยาวมีการผลิตลดลง ร้อยละ 26.82 ผลิตภัณฑ์ที่ลดลงมากที่สุดได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 41.68 รองลงมาคือ เหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 29.38 เนื่องจากในเดือนนี้มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ลูกค้าจึงชะลอการสั่งซื้อ ผู้ผลิตบางรายจึงใช้ช่วงเวลานี้หยุดผลิตและซ่อมบำรุงเครื่องจักร สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน พบว่าการผลิตลดลงเช่นกันคือ ร้อยละ 4.77 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 18.87 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 13.10 เนื่องจากผู้ผลิตได้เร่งส่งมอบไปในเดือนก่อนแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.63 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายเริ่มกลับมาผลิตอีกครั้งหลังจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.48 แต่เหล็กทรงยาวลดลง ร้อยละ 5.55

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนเมษายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กเส้น ลดลงจาก 110.63 เป็น 110.21 ลดลง ร้อยละ 0.38 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 113.08 เป็น 112.71 ลดลง ร้อยละ 0.33 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet เพิ่มขึ้นจาก 115.76 เป็น 117.41 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.43 รองลงมาคือ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 117.44 เป็น 118.6 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.99 แต่เหล็กแผ่นรีดร้อนมีดัชนีราคาที่ทรงตัว คือ 103.33

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนพฤษภาคม 2557 เทียบกับเดือนก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผู้ผลิตเริ่มทำการผลิตตามปกติหลังจากวันหยุดยาวเมื่อเดือนก่อน นอกจากนี้จากสถานการณ์การเมืองที่เริ่มคลี่คลายอาจเป็นผลให้คำสั่งซื้อเริ่มกลับมามากขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศเป็นสำคัญ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน ดังนี้

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 126,730 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการผลิต 170,434 คัน ร้อยละ 25.64 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 30.11 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 73,260 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 109,673 คัน ร้อยละ 33.20 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 12.77 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 69,804 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการส่งออก 68,205 คัน ร้อยละ 2.34 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 38.40 ซึ่งลดลงในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลางและอเมริกาใต้

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2557 เนื่องจากโรงงานประกอบรถยนต์เริ่มทำการผลิตรถยนต์เป็นปกติ (เดือนเมษายนของทุกปี โรงงานประกอบรถยนต์จะหยุดการผลิต ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน) สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45 และส่งออกร้อยละ 55

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2557 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากการลดลงของตลาดในประเทศ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนเมษายน ดังนี้

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 149,616 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการผลิต 179,219 คัน ร้อยละ 16.52 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 14.30 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 131,147 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการจำหน่าย 169,033 คัน ร้อยละ 22.41 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 15.95 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU)

จำนวน 24,577 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการส่งออก 20,709 คัน ร้อยละ 18.68 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 2.27 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2557 เนื่องจากในเดือนเมษายนของทุกปี มีฐานที่ค่อนข้างต่ำ เพราะมีช่วงเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน โรงงานประกอบรถจักรยานยนต์หยุดการผลิต สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2557 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 88 และส่งออกร้อยละ 12

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมียนมาร์และกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง"

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนเมษายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 13.59 และ 15.56 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 5.93 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.16

เมื่อพิจารณาในภาพรวม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าในเดือนนี้จะมีปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ส่งผลให้การก่อสร้างโครงการต่างๆ ชะลอตัวลง

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนเมษายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.26 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.12

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ว่าไทยจะมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ลดลงก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากเมียนมาร์ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้นต่อไป

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นช่วงเร่งการก่อสร้างหลังจากที่มีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อีกทั้งฤดูฝนในปีนี้ยังล่าช้ากว่าทุกปี จึงคาดว่าจะมีการเร่งก่อสร้างในโครงการต่างๆ ก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนถัดไปตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดย ถึงแม้ไทยจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้น แต่ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ โดยเฉพาะตลาดหลักในภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนเมษายน 2557 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 จากการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ IC

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือนเมษายน 2557

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)          %MoM           %YoY
          อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์                  1,298.74                -10.88          -10.06
          แผงวงจรไฟฟ้า                                     519.82                -27.76           -1.33
          เครื่องปรับอากาศ                                   413.22                 -9.68           15.79
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง              134.82                 17.22          -28.51
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                   4,161.44                -12.44           -3.33
          ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนเมษายน 2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 262.25 ลดลงร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 4.56 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากเครื่องปรับอากาศที่ เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น รวมถึงเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอลและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น พัดลม และหม้อหุงข้าว จากการที่ผู้บริโภคในประเทศมีการชะลอการใช้จ่ายตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 3.00 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจาก Semiconductor , Monolithic IC และOther IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.73 5.20 และ 6.12 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart Phone/อุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ (Communication system) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน 2557 มีมูลค่า 4,161.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.44 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 3.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 1,890.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.07 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ รองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่น ๆ สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,270.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.32 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 6.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าส่งออก ลดลง ร้อยละ 10.88 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 10.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนและสหรัฐอเมริกาลดลงมากถึงร้อยละ 30.49 และ 27.25 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 519.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 27.76 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 1.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 14.06 และ 8.43 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นญี่ปุ่นและอาเซียนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.53 และ 6.95 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2557 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศที่สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่ม Semiconductor และ IC ที่เริ่มมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียน และญี่ปุ่น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ