ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2557 อยู่ที่ 104.4 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 1 ปี 2556 อยู่ที่ 107.2 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน (ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557) อยู่ที่ 100.77 USD/Barrel ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เช่น สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลง ความขัดแย้งในลิเบียที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และในเยเมนมีการโจมตีท่อขนส่งน้ำมันทำให้เยเมนต้องหยุดขนส่งน้ำมันดิบลงชั่วคราว
ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 และชะลอตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 คือ การหดตัวของอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวเล็กน้อย โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการหดตัวลงทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิขยายตัว สำหรับการนำเข้าสินค้าหดตัวต่อเนื่อง
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 หดตัวร้อยละ 2.9 ซึ่งหดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 ที่หดตัวร้อยละ 0.5 และหดตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 37.0 ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการภายในประเทศหดตัวสูง ในขณะที่ความต้องการจากต่างประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยีหดตัว ส่วนอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัว
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 3 - 4 โดยทั้งปี 2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการผลิต
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ยังคงลดลงต่อเนื่องจากปี 2556 ทั้งการส่งออกและการนำเข้าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 1 การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 111,716.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 56,211.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 55,505.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 นั้น มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.67 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.25 โดยดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้ กลับมาเกินดุลการค้าโดยมีมูลค่า 706.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.00 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.41
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 78,315.5 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคมมีมูลค่า 69,741.3 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 8,574.2 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 7,111.4 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -1,734.7 ล้านบาท (หมายถึงมีการลงทุนในรูปของการลงทุนในเรือนหุ้น กำไรสะสมที่นำกลับมาลงทุน หรือการกู้ยืมจากบริษัทในเครือในต่างประเทศต่ำกว่าการลดการลงทุน) โดยการลงทุนรวมในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 9.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการ
ลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 449 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 580 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 34,800 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงจากสถานการณ์การเมืองของประเทศไทย โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 157 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 11,800 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 83 โครงการ เป็นเงินลงทุน 9,900 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 209 โครงการ เป็นเงินลงทุน 13,100 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ขนส่งมีเงินลงทุน 12,300 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน8,800 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลทางการเกษตรมีเงินลงทุน 5,800 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 109 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 10,978 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 23 โครงการ มีเงินลงทุน 2,270 ล้านบาท ประเทศจีนมีจำนวน 15 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 2,020 ล้านบาท และประเทศอินเดียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 4 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 1,244 ล้านบาท
เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีปริมาณ 1,654,018 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 18.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 3,121,140 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 23.47 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนน้อยลง
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2557 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กจะชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะมีปัจจัยลบหลายด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจมหภาคของประเทศที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และอาจจะทำให้การดำเนินนโยบายและการลงทุนของรัฐบาลต้องชะลอลง ภาวะภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีก่อนๆ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เช่นเคยทำให้รายได้ลดลง นอกจากนั้น ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงก็ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มตลาดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ยังคงทรงตัวอยู่ ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กในช่วงดังกล่าวชะลอตัวลง
ยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2557 มีปริมาณการผลิตหดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติของตลาดในประเทศ ก่อนจะมีนโยบายรถยนต์คันแรก รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับการส่งออกรถยนต์ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่สองของปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2557 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 500,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่าย ในประเทศร้อยละ 46 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 54
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2557 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 267.46 ลดลงร้อยละ 1.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 4.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะความต้องการเครื่องปรับอากาศในตลาดหลักเช่น อาเซียน สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2557 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวลดลง สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 ซึ่งมาจากเครื่องปรับอากาศ และสายไฟฟ้าที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ ๑ ของปี 255๗ มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เพื่อการเพาะปลูกของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น และการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ แนวโน้มปี 2557 คาดว่าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะยังสามารถส่งออกยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV
แนวโน้มปี 2557 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะมีสถานะทรงตัว ส่วนหนึ่งอาศัยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่คาดว่าจะมีความต้องการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ
พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก และดัชนีส่งสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 และ 3.78 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาส 1 ความต้องการบริโภคในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน วาเลนไทน์ ประกอบกับในเดือนเมษายนมีเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันหยุดยาวทำให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตและส่งสินค้าให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค
สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ส่งออกสำคัญของไทย
ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2557 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรวมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2557 คาดว่าอัตราการขยายตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2556 คาดว่าในปี 2557 มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2556 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อการบริโภค แผนการลงทุน และการส่งออก ซึ่งอุตสาหกรรมจะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถวางแผนและกำหนดมาตรการรับมือได้อย่างถูกต้องและทันการณ์
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2557 การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.15 2.75 1.67 และ 6.79 ตามลำดับ เนื่องจากมีการผลิตเพื่อรองรับการเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาภายในประเทศ ทำให้ความต้องการใช้โดยเฉพาะกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 1.73 เนื่องจากมีการนำเข้าจากญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวดีขึ้น โดยภาคการผลิตจะมีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยเสี่ยง จากการแข่งขันด้านราคากระดาษพิมพ์เขียนที่นำเข้าจากจีนซึ่งมีราคาค่อนข้างต่ำ
เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2557 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 40.75 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.69 จากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่มีมากในช่วงฤดูกาลขาย ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์มีปริมาณ 1.85 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 9.31 จากที่เคยเติบโตต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งไตรมาสนี้เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองอย่างชัดเจน สำหรับการผลิตเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ลดลงร้อยละ 5.85 เนื่องจาก กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง จากปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลให้ภาคการลงทุนและเศรษฐกิจชะลอตัว และนโยบายรถยนต์คันแรกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการซื้อรถยนต์มากกว่าการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน จึงชะลอการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านออกไป
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2557 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลง นอกจากนี้ปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน ปัญหาการแข่งขันกับสินค้านำเข้า ส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเซรามิกมีแนวโน้มลดลง
ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากไตรมาสแรกของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้างของไทย ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบในไตรมาสที่ผ่านมาคลี่คลายไปในทางที่ดี นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนาระบบขนส่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงแม้จะมีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ไม่มากนัก แต่ผลจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าวทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าขยายตัวดีขึ้น จึงส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณที่สูงขึ้น
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยมีวันหยุดยาวและเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งจะส่งผลให้การก่อสร้างในโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนชะลอตัวลง
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอ สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทออยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะที่การผลิตเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเพิ่มขึ้น จากคำสั่งซื้อทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มฟื้นตัวและตลาดสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ประกอบกับได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมากในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายประเภทเสื้อกีฬาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไทย เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยผู้นำเข้าหลายรายเริ่มไม่มั่นใจต่อการสั่งซื้อ ว่าจะสามารถผลิตและป้อนสินค้าให้ได้ตามคำสั่งซื้อหรือไม่ โดยผู้นำเข้าบางรายเริ่มหันไปลงออเดอร์กับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาจากการส่งมอบ เนื่องจากกลุ่มสินค้าสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม มีการผลิตในหลายประเทศในอาเซียนและคุณภาพผลผลิตใกล้เคียงกับไทย ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านี้ทดแทนได้
ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2557 มีปริมาณ 1.99 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.13 และ 0.50 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ภาคการลงทุนและเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีแนวโน้มเติบโตลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาทางการเมืองในประเทศ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2557 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก ตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร มีความต้องการผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนของไทยลดลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าในตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น มาเลเซียเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน และรัสเซีย อาจทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
ยา ไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 มีปริมาณการผลิตยาในประเทศทั้งสิ้นรวม 7,065.75 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 8.07 และ 9.87 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมยามีการขยายตัวที่ดีขึ้น และช่วงต้นปีของทุกปีเป็นช่วงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบตามการสั่งซื้อที่ได้รับมาจากเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงปิดยอดการสั่งซื้อของทุกบริษัท
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมยามีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและระเบียบในการขึ้นทะเบียนยาซึ่งถูกปรับเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมาของเวียดนามอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อภาพรวมของการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสหน้าไม่มากก็น้อย เนื่องจากเวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย ในส่วนของการนำเข้า คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้าลดลง เนื่องจากการเข้มงวดในการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการของภาครัฐทำให้แพทย์สั่งจ่ายยาที่นำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพงลดลง โดยหันมาใช้ยาที่สามารถผลิตได้เองในประเทศเพิ่มขึ้น ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสัญญาณชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งจากการใช้จ่ายภายในประเทศ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์ในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ หรือจากโครงการรถคันแรกที่ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปจำนวนมากในปีก่อน ส่งผลให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ชะลอตัวลงตามไปด้วย สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงมือตรวจเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายของไตรมาสที่ 1 หลังจากชะลอตัวลงในช่วงต้นปี
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 อุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการขยายตัวอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ แต่ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ไตรมาส 1 ปี 2557 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์ ได้แก่ รองเท้า กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในที่ลดลงตามค่าครองชีพ และภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น มีผลให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง ประกอบกับผู้ประกอบการวิตกกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และยังกังวลถึงเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวจริงหรือไม่
แนวโน้มปี 2557 คาดว่า การผลิตและการส่งออกรองเท้า จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปี 2556 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อาจจะมีปัจจัยจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพมากกว่าไทย ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป
อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ด้านการผลิตปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.73 สอดคล้องกับการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปที่มีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนด้านการจำหน่ายหดตัวลง ร้อยละ 6.11 และสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 1.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัวส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง
การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 คาดว่า จะขยายตัวได้ตามการผลิตเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อจากการจัดงานบางกอกเจมส์แอนด์ จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 53 ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีราคาที่ถูกลงโดยเปรียบเทียบ
อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.12 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ขณะที่การผลิตหลายกลุ่มสินค้าสำคัญปรับชะลอตัวลง แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.49 เป็นผลจากการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มสินค้า เช่น ปศุสัตว์ อาหารสัตว์และธัญพืชและแป้ง จากการผลิตที่รองรับตลาดในประเทศที่ยังขยายตัวจากการปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือน แม้ว่าวัตถุดิบบางอย่างได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และการชะลอตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ
การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสสองของปี 2557 คาดว่า จะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากคำสั่งซื้อจะชะลอตัวภายหลังเทศกาลจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ การจำหน่ายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลทำให้การบริโภคในประเทศปรับตัวลดลง สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จีนและญี่ปุ่นยังขยายตัว ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังส่งผลต่อการผลิตและส่งออก คือ ปริมาณวัตถุดิบหลายชนิดได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และโรคระบาด โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณวัตถุดิบลดลง เนื่องจากโรคตายด่วนในกุ้ง และผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศในสหภาพยุโรปจากปัญหาหนี้สาธารณะ ประกอบกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาระหว่างยูเครน-รัสเซียและสหภาพยุโรปยังไม่ชัดเจน ส่งผลทำให้สภาพเศรษฐกิจยังคงซบเซา
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--